วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ร่วม ค.4 ชี้เป็นเวทีจัดตั้งหักหลังชาวบ้าน

จำนวนผู้เข้าชม

กำนันผู้ใหญ่บ้านลั่นไม่ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น  .4 ระบุเป็นเวทีจัดตั้ง  ชาวบ้านในพื้นที่เสียสละเพื่อพลังงานที่มั่นคง แต่ทำบันทึกข้อตกลงแล้วแต่ถูกหักหลัง ขณะเดียวกันได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลไม่รับฟ้องคดี

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ กลุ่มชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำโดยนายถนอม กุลพินิจมาลา ประธานชมรมผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่เมาะ พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ 30 คน ได้ร่วมประชุมกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านต่อไปในอนาคต หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.ค.61 ได้ทราบผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดว่าไม่รับฟ้องคดีที่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยื่นฟ้อง กฟผ.แม่เมาะไม่ทำตามข้อตกลงในMOUที่ให้ไว้ โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(ครั้งสุดท้าย) ค.4 หรือ ง   โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7 ด้วย

จากรายงานทราบว่า ที่ผ่านมากลุ่มชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้มีการยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ว่า กฟผ.ไม่ทำตามข้อตกลงในบันทึกข้อตกลง MOU ซึ่งทางกลุ่มชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านยื่นข้อเสนอไป 3 ข้อด้วยกัน คือ ขอให้ กฟผ.สนับสนุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคตำบลละ 5 ล้านบาท  ,ขอเศษหินคลุกจากโรงโม่ที่ กฟผ.ไม่ได้ใช้มาใช้กับงานส่วนรวม และขอให้ กฟผ.ขายเถ้าลอยให้กับประชาชนชาวแม่เมาะ ลดราคา 10 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการผลิตทุกปี แต่ศาลได้พิจารณาให้ยกฟ้องไป เนื่องจากไม่เข้าข่าย ระบุว่าบันทึกข้อตกลงที่เขียนไว้ระหว่างผู้บริหาร กฟผ.และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน บอกไว้ว่าผู้บริหารจะรับข้อเสนอตามเงื่อนไข และจะเสนอผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย  ต่อมาทางกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ยื่นฟ้องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด และมีการพิจารณาเมื่อวันที่ 11 ก.ค.61 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าศาลไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลในทางเดียวกับศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ขอในส่วนพิเศษของโควตาเถ้าลอย 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั้งหมด หรือประมาณ 4 แสนตัน  เป็นส่วนลด 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย แต่ กฟผ.ไม่สามารถขายให้ได้ เพราะมีฝ่ายธุรกิจดูแลอยู่ และมีทีโออาร์ระบุเงื่อนไขของผู้รับซื้อไว้ ซึ่งอำนาจการอนุมัติในเรื่องนี้อยู่ที่บอร์ด กฟผ.  รวมทั้งในส่วนของเศษหินคลุกการดำเนินการต้องเป็นไปเช่นเดียวกับการขอเถ้าลอยเช่นกัน และทางบอร์ด กฟผ.มีมติว่าไม่สามารถให้ได้ตามที่กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านร้องขอ 

ในส่วนของงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค ตำบลละ 5 ล้านบาท จะประกอบด้วย 4 ตำบล คือ ต.แม่เมาะ ต.สบป้าด ต.นาสัก ต.จางเหนือ  ยกเว้น ต.บ้านดง เนื่องจากได้งบประมาณปีละ 20 ล้านบาทไปแล้ว เพราะผลกระทบจากการใช้เป็นที่ทิ้งดิน จึงมีการอพยพราษฎร กฟผ.จึงเห็นชอบอนุมัติ 20 ล้าน ในช่วงที่ พ.ร.บ.ค่าภาคหลวงแร่ยังไม่ได้มีการแก้ไข จึงเสียประโยชน์จากการได้ค่าภาคหลวงแร่ที่อยู่ในเขต ต.บ้านดง   โดย อบต.บริหารเองด้านสาธารณูปโภค 12 ล้านส่วนอีก 8 ล้าน ให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต.บ้านดง  แต่ในเรื่องนี้อีก 4 ตำบล ต้องการได้รับการสนับสนุนหมู่บ้าน ละ 1 ล้านเช่นกัน แต่คนละกรณีกัน ทาง กฟผ.จึงไม่สามารถสนับสนุนให้ได้  แต่ได้มีการปรับวงเงินงบประมาณให้ เดิมได้4 ตำบลได้ตำบลละ 5 แสน ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค แบ่งตามสัดส่วนความเหมาะสมของหมู่บ้าน โดยมีการประชาคมหมู่บ้าน และนำงบประมาณไปดำเนินการเอง เมื่อปรับวงเงินขึ้นเป็นตำบลละ 5 ล้าน ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ออกมาใหม่ เรื่องของการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นไม่สามารถดำเนินการให้ทางตำบลบริหารจัดการเองตามเดิมได้ จึงต้องมีการประชาคมผ่านทางหมู่บ้านและยื่นเสนอโครงการเข้ามา กฟผ.จะรวบรวมข้อมูล และมาลงพื้นที่สำรวจออกแบบ จัดทำโครงการและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนไปถึงการส่งมอบงาน ทางชุมชนจะไม่ได้แตะเงินด้วยตัวเองเหมือนที่ผ่านมา จึงเกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นว่า กฟผ.ไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าว

นายถนอม กุลพินิจมาลา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า พวกเราไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่จะไม่เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 14 ก.ค.61 อย่างเด็ดขาด ทางผู้บริหารและผู้ใหญ่ที่ร่วมทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว ทำเหมือนเป็นการหักหลังชาวบ้าน เหมือนหลอกชาวบ้าน สิ่งที่ทำไปทำเพื่ออะไรในเมื่อไม่มีความหมายอะไรเลยต่อไปจะเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน ต่อไปนี้ตนเองก็จะขับเคลื่อนในส่วนของทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านต่อไป

นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ได้คุยกับทาง กฟผ. มีประเด็นที่ตกลงกันไว้เมื่อเวทีครั้งที่แล้วแต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ต้องยอมรับว่าการตกลงกันในเวทีเดิมมีความล่าช้าจริงๆ ได้ท้วงติง กฟผ.ไปบางส่วนว่า ในบางเรื่องก็ทำให้มีขั้นตอนยืดยาวจึงทำให้ไม่บรรลุข้อตกลงเลยสักข้อ ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่พอใจกับตรงนี้   นอกจากนี้ได้เคยเตือนกำนันผู้ใหญ่บ้านไปว่าต้องใช้เหตุผล การรักษาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นเรื่องดีแต่ต้องอยู่ในกรอบ การที่ต้องการเถ้าลอย หรือหินคลุกของ กฟผ.แม่เมาะ ต้องมีกรอบว่าต้องนำไปใช้พัฒนาพื้นที่จริงๆ แต่อยู่ๆจะนำรถไปตักแล้วนำไปขายไม่ได้เป็นเรื่องของส่วนรวม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1187 วันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์