วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บ้านเสานัก ลำปาง - โฮงเจ้าฟองคำ น่าน เสน่ห์บ้านเก่าดึงดูดนักเที่ยว

จำนวนผู้เข้าชม web counter
           
หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมบ้านใครสักคนในวันที่เจ้าของบ้านไม่อยู่เสียแล้ว เราจะรู้สึกเคอะเขินหรือไม่ ยามที่เดินเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ในบ้านที่แสนเงียบ

ในปี พ.ศ. 2438 พ่อเลี้ยงหม่องจันโองผู้มั่งคั่งจากการทำไม้ ได้สร้างบ้านไม้สักโบราณขึ้นในย่านท่ามะโอ เรือนพื้นถิ่นล้านนา สกุลช่างลำปางหลังนี้ มีเสาไม้สักถึง 116 ต้น แบบระเบียงบ้านได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบพม่า ในขณะที่หลังคาและโครงสร้างโดยทั่วไปเป็นแบบล้านนา เนื้อที่ราว 3 ไร่ของบ้านประกอบไปด้วยเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนหมู่ โรงรถ และถุข้าวเสาหลายที่มีเสาถึง 24 ต้น มีความเก่าแก่ร่วมสมัยกับตัวบ้าน โดยย้ายมาจากบ้านกล้วยในปี พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ บริเวณบ้านยังมีบ่อน้ำหน้าบ้าน 2 บ่อ หลังบ้าน 1 บ่อ มีต้นสารภีอายุมากกว่าตัวบ้านแผ่กิ่งก้านร่มเงาเป็นจุดเด่น

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2507 โครงสร้างบ้านเริ่มเสื่อมลงตามกาลเวลา คุณหญิงวลัย ลีลานุช หลานตาของหม่องจันโอง จึงได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ โดยใช้เวลากว่า 10 ปี พื้นดินถูกยกขึ้นจากเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วม เสาบางต้นมีการโบกปูนทับแล้วใช้ไม้อัดประกบ พื้นไม้ของชานบ้านเปลี่ยนเป็นปูกระเบื้องแทน และมีการปิดร่องไม้สักด้วยสังกะสี ทั้งนี้ทั้งนั้น บ้านก็ยังคงสภาพเดิมไว้มากที่สุด

ส่วนที่มาของชื่อบ้านมาจากการที่ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ผู้มีความคุ้นเคยกับบ้านหลังนี้มาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ได้นำเรื่องราวของบ้านออกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ โดยคุณชายนั่นเองที่เป็นผู้ริเริ่มเรียกชื่อบ้านว่า บ้านเสานัก จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และในปี พ.ศ. 2548 บ้านเสานักก็ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทเคหะสถานบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

หลังจากคุณหญิงวลัยถึงแก่อนิจกรรม บ้านเสานักกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง โดยนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าเข้าชม 30 บาท และจะได้รับโบรชัวร์ น้ำมะขามเย็นชื่นใจ พร้อมกับขนมให้นั่งกินเล่นใกล้กับต้นสารภีใหญ่ สำหรับการเดินชมภายในบ้านเสานัก นักท่องเที่ยวต้องเดินชมด้วยตัวเอง ไม่มีไกด์นำชม

ข้ามไปยังฝั่งล้านนาตะวันออก ที่เมืองน่าน อารมณ์คล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด

โฮงเจ้าฟองคำ ยังคงรูปแบบดั้งเดิมเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คำว่า “โฮง” ภัทราภรณ์ ปราบริปู ลูกสาวของเจ้าฟองคำ อธิบายว่า ชาวเมืองน่านเรียกบ้านหลังใหญ่ว่าโฮง ไม่เรียก “คุ้ม” เหมือนชาวเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่เรียก “เฮือน” ด้วยเช่นกัน

โฮงเจ้าฟองคำสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 เดิมอยู่ติดกับคุ้มแก้ว ซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ โฮงหลังนี้เป็นบ้านพักของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน เจ้าศรีตุมมาเป็นหลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าู้ครองนครน่านองค์ที่ 11 ส่วนเจ้ามะโนเป็นน้องของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ต่อมาเมื่อต้องยกที่ดินให้กับทางการไทยเพื่อสร้างค่ายทหาร เจ้าบุญยืน ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน จึงได้รื้อตัวโฮงมาสร้างใหม่ในที่ปัจจุบัน กระทั่งตกทอดมาถึงเจ้าฟองคำ ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ

เจ้าฟองคำเกิดและใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ เรือนไม้หลังนี้ ป้าภัทราภรณ์เล่าว่า เจ้าฟองคำในวัยสาวถูกส่งไปอยู่ที่คุ้มราชบุตร ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เพื่อเป็นช่างทอ ด้วยพรสวรรค์และความเก่งกาจ เจ้าฟองคำจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าช่างทอ ดูแลงานปัก งานถัก และงานทอทุกชนิดในราชสำนัก เจ้าฟองคำเป็นหญิงสาวที่ไม่เหมือนหญิงคนใดในเมืองน่าน กล่าวคือ ท่านแต่งงานกับข้าราชการครูเมื่ออายุล่วงเลยไปถึง 29 ปี ขณะที่ในสมัยนั้น หญิงสาวจะแต่งงานตั้งแต่อายุ 14 ปี
เมื่อออกเรือนแล้ว เจ้าฟองคำต้องออกจากราชสำนักและกลับมาอยู่ ณ โฮงเจ้าฟองคำ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและเป็นสุขกับครอบครัว โฮงเจ้าฟองคำจึงใช่เพียงที่อยู่อาศัยคุ้มแดดฝน แต่อบอวลไปด้วยเรื่องราวความผูกพันแต่เก่าก่อน เจ้าฟองคำย้ำนักกับลูกหลานว่า ไม่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบโฮงไปเป็นอย่างอื่น

โฮงเจ้าฟองคำได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปี 2555-2557) นอกจากแบบบ้านล้านนาโบราณ ที่สะท้อนภูมิปัญญาเชิงช่างในการแทรกซ่อนประโยชน์ใช้สอยไว้ในความงามได้อย่างแยบยล ภายในยังมีของประดับตกแต่งที่มีคุณค่า มากไปด้วยเรื่องราว

ทุกวันนี้โฮงเจ้าฟองคำเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวว่าต้องการจะช่วยค่าดูแลรักษาบ้านหรือไม่ และยังคงมีการสาธิตการทอผ้าให้ผู้ที่สนใจได้นั่งลงดูและไถ่ถาม ยามถึงหน้าลำไย ก็ยังมีลำไยจากต้นเก่าแก่ในบ้านให้ได้ชิมกัน ที่สำคัญ หากมีเวลา ป้าภัทราภรณ์ก็จะมาทำหน้าที่เป็นไกด์นำชมบ้าน เล่าเรื่องราวความหลังให้ฟังกันจนเพลิน และนี่คือเสน่ห์ที่ทำให้โฮงเจ้าฟองคำเป็นบ้านที่มีชีวิตชีวา น่าเรียนรู้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1194 วันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน 2561)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์