วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

'อารีเซรามิค' ย้ายไก่ใส่กระดุม บุกตลาดเครื่องประดับ

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

ในยุคเศรษฐกิจผันผวน หลายธุรกิจต้องปรับตัวกันถ้วนหน้า หลายโรงงานต้องพัฒนาสินค้าเป็นมีมูลค่าสูงขึ้นเข้าทำนองทำน้อยแต่สร้างรายได้ได้มาก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และทำการตลาดที่เปลี่ยนมาใช้ออนไลน์กันมากขึ้น เหมือนอย่างที่ อารีเซรามิคปรับตัวหนีตาย

อารีเซรามิค หนึ่งในโรงงานเซรามิคเล็กๆที่ต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก หลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ยอดขายตกลง อีกทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในโลกการตลาดที่การค้าขายออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  จากที่โรงงานแห่งนี้เคยผลิตถ้วยตราไก่ขายแข่งขันในตลาดเซรามิคมายาวนาน  ต้องหันมาพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อหาทางรอดด้วยการหันมาผลิตงานชิ้นเล็กๆแต่เอกลักษณ์ เช่น กระดุม พวงกุญแจ และเครื่องประดับเซรามิก ที่มีต้นทุนน้อยแต่มีมูลค่าทางการการตลาดสูงกว่า เปิดตัวสินค้ารูปแบบใหม่ในโครงการ จัดงานแสดงสินค้าที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม โครงการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเซรามิคและหัตถอุตสาหกรรมของจังหวัดลำปางโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ที่ ศูนย์การเซ็นทรัลพลาซาลำปาง ซึ่งเป็นจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ต้นแบบของโครงการฯ ที่ได้รับการพัฒนา ออกแบบ ให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เซรามิคในรูปแบบใหม่ โดยมีการผสมผสานผลิตภัณฑ์จากไม้และหรือผ้า ให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

เล็กอารีรัตน์ โตเมศร หญิงแกร่ง เจ้าของโรงงานอารีเซรามิค บอกว่า จากเดิมโรงงานเคยมีคนงานกว่าสิบคน แต่จากภาวการณ์แข่งขันการตลาดท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าแรงและต้นทุน วัตถุดิบต่างๆปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นแต่รายได้ถดถอย จากผลกระทบหลายประการ ทำให้ธุรกิจภาคการผลิตเซรามิคประสบปัญหาต่อความอยู่รอด

พี่ใช้เวลาหลายปีในการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันในธุรกิจเซรามิคที่มีคู่แข่งมากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความต้องการตลาดก็เปลี่ยนตาม  เดิมเราเป็นโรงงานทำถ้วยตราไก่ เป็นงานเพ้นท์แบบดั้งเดิม เล็กๆ จากที่เคยมีแรงงานสิบกว่าคน จนต้องทำคนเดียว หากจะพัฒนา จะเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตก็ต้องลงทุนสูงมาก มีทางเดียวคือต้องหาทางลดต้นทุน และเลือกทำสินค้าที่ไม่ต้องอาศัยแรงงาน  พี่จึงหันมาศึกษา ทดลองทำสินค้าชิ้นเล็กๆ ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ มาทำ เครื่องประดับ กระดุม ต่างหู ขายที่ถนนคนเดินกาดกองต้า ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก และยังพบว่าสินค้าแนวนี้ตลาดยังมีความต้องการสูง และอีกยังมีดีไซน์มีลูกเล่นให้เราขยับได้อีกหลายแนว

ท่ามกลางวิกฤติที่ยังพอมีโอกาส อารีรัตน์ เริ่มหันมาศึกษาการสร้างชิ้นงานเซรามิครูปแบบใหม่ที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน ประกอบกับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาและหาความรู้ด้านต่างๆร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และที่ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาลำปาง ทำให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเน้นเป็นงานแฮนด์เมดงานปั้นมือ สร้างชิ้นงานรูปแบบต่างๆ มาประกอบกันเป็นส่วนประกอบของ กระดุมเซรามิค ต่างหู สร้อยคอ นำมารวมกับวัสดุธรรมชาติ อย่าง เชือกถักจากใยกัญชงที่สื่อถึงวัฒธรรมการแต่งกายของชาวเขาเผ่าม้ง  และการนำพู่ที่ทำจากเส้นใยสับปะรดของจังหวัดลำปางมาเพิ่มมูลค่าให้ต่างหูเซรามิคที่ผสมผสานกับลูกปัดไม้  ส่วนกระดุมเซรามิคก็วาดลายไก่ที่ยังคงเอกลักษณ์ถ้วยตราไก่ลำปางลงในชิ้นงาน กระดุมเซรามิคยังมีความทนทายซักด้วยเครื่องซักผ้าก็ยังได้

ในด้านการตลาด อารีรัตน์บอกว่า แม้จะเป็นงานแนวใหม่ที่ตนทำ แต่ก็เคยมีผู้ประกอบการเซรามิคบางรายทำมานานแล้ว แต่ก็เชื่อว่าความต้องการและส่วนแบ่งตลาดยังมีสูง จึงมุ่งมั่นจะค้นหาแนวทางที่จะผลิตชิ้นงานที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งขณะนี้มีเพียงสร้อยคอเครื่องประดับเซรามิคเคลือบแก้ว และ งานกระดุมลวดลายอิสระ ที่ใช้ดินทนไฟ เผาในอุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส มีความคงทน และสามารถใช้กับเสื้อผ้าพื้นเมืองที่ยังคงบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของลำปางให้เข้ากันอย่าลงตัว ส่วนเครื่องประดับก็ เน้นการทำชิ้นงานที่เรียบง่ายให้สามารถเข้ากับ ชุดแต่งกายได้หลากหลายแนว

งานของพี่ทำขายมานานกว่า 1 ปี เป็นงานที่ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก หากลูกค้าเห็น และชอบก็ซื้อเลย แล้วแต่รสนิยม และสไตล์ของลูกค้าว่าชอบงานแนวไหนเราก็มีให้เลือก ขณะนี้ขายปลีกที่กาดกองต้า มีช๊อปให้ลูกค้ามาวาดลายเองได้ด้วย  นอกจากนี้ตอนนี้ก็เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ อารีเซรามิค  และบางส่วนก็ขายส่งให้กับร้านค้าต่างๆอีกด้วย การเปลี่ยนแนวทางการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มช่องทางการขายไปพร้อมๆกันทำให้สามารถอยู่ได้ในภาวะของการปรับตัว เชื่อว่าหากพัฒนาไปอีก อารีเซรามิค ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาและยังคงอยู่ในกลุ่มโรงงานเซรามิคที่พัฒนาตัวเองไปได้

การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ง่าย แต่การพัฒนานั้นทำได้เสมอ อารีเซรามิคจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ก้าวข้ามความยากลำบากของความอยู่รอดในโลกของธุรกิจโรงงานเซรามิคในยุคนี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1192 วันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์