วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พญาสัตบรรณ ต้นไม้...ร้าย หรือดี

จำนวนผู้เข้าชม url and counting visits

มนุษย์เราผูกพันกับต้นไม้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราต่างซาบซึ้งในบุญคุณของมัน และถูกปลูกฝังกันมาว่า การปลูกต้นไม้คือสิ่งสำคัญที่ควรทำในชีวิต ทว่าน่าเศร้าสำหรับต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ผู้คนพากันเข็ดขยาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่วงเข้าฤดูหนาว ที่ดอกของมันจะส่งกลิ่นฉุนรุนแรงชวนให้วิงเวียนยิ่งนัก

ต้นพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด (Alstonia scholaris) เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์โมก ส่วนใหญ่อยู่ในเขตศูนย์สูตร ทั่วโลกมีประมาณ 1,700 ชนิด ในภาคเหนือมี 10 สกุล 19 ชนิด ประโยชน์ส่วนใหญ่มักจะปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกเด่นงดงาม แต่ก็มีหลายชนิดที่มีพิษ ขณะที่หลายชนิดมีคุณค่าทางยา

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้จะดี มีคนยกย่อง พญาสัตบรรณจึงเป็นไม้มงคลนาม หนำซ้ำยังเติบโตเป็นพุ่มคล้ายฉัตรที่เป็นของสูงอีกด้วย ความที่เป็นต้นไม้โตเร็ว ให้ร่มเงาดีมาก และราคาถูก จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ นับเป็นต้นไม้ที่หน่วยงานราชการมักนึกถึงและนำมาใช้ในการรณรงค์ปลูกป่า ปลูกเป็นแถวเป็นแนวไปทั่วเมือง รวมถึงโครงการบ้านจัดสรรต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจต้นไม้ชนิดนี้กันไม่น้อย

ความรื่นรมย์จากร่มเงาของต้นพญาสัตบรรณพลันสะบั้นลงราวปลายเดือนตุลาคม เมื่อดอกสีขาว หรือเขียวอมเหลืองต่างพร้อมใจกันแตกแขนงออกที่ปลายกิ่งก้านบานเต็มต้น ส่งกลิ่นไกลนับกิโลเมตร บางคนว่ากลิ่นของมันร่ายมนตร์ให้ชวนหลงใหล บางคนกลับนึกสาปแช่งคนปลูกว่าทำลูกเล็กเด็กแดงและคนเฒ่าชราในบ้านล้มป่วย

กลิ่นดอกพญาสัตบรรณจัดอยู่ในกลุ่ม Green and Narcotic note ความฟุ้งกระจายของกลิ่นได้มาจากสารกลุ่ม Hexenyl acetate และ Hexenol อันเป็นกลิ่นที่คล้ายหญ้าเพิ่งตัดใหม่ และอาจจะมีสารกลุ่ม indole, salicylate และ cresol บางตัว ซึ่งสารกลุ่มนี้เองเป็นต้นเหตุให้ผู้คนออกอาการต่าง ๆ ทั้งสงบ เคลิบเคลิ้ม มึนงง แม้กระทั่งซึมเศร้า

ในทางการปรุงน้ำหอม note ชนิดนี้มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูง เนื่องจากความสามารถในการฟุ้งกระจายที่ดี มีการวิเคราะห์รายละเอียดของกลิ่นดอกพญาสัตบรรณว่า กลิ่นแรกสัมผัสจะเป็นกลิ่นเขียวๆ คล้ายใบไม้ กลิ่นกลางจะแสดงเอกลักษณ์ความเป็น Narcotic note ด้วยลักษณะคล้ายกลิ่นกำยาน กลิ่นไม้เก่าๆเปียกน้ำ และกลิ่นยางของเถาไม้ที่ถูกขยี้จนแหลกละเอียด กลิ่นสุดท้ายคือกลิ่นสาบของซากพืชที่ถูกหมักหมม เหล่านี้ล้วนสร้างสัมผัสถึงความโบราณ มายา และความลึกลับ

ด้านชาวลำปางเราได้รับผลกระทบจากกลิ่นของต้นพญาสัตบรรณมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวค่ำไปจนถึงรุ่งเช้าที่กลิ่นดอกจะยิ่งทวีความรุนแรง

เมื่อหลายปีก่อนชาวบ้านริมแม่น้ำวังบริเวณสะพานหลังจวนผู้ว่าฯ ต่างพากันลงชื่อเรียกร้องให้ทางเทศบาลมาตัดต้นพญาสัตบรรณที่ปลูกเรียงรายไว้ริมแม่น้ำโดยด่วน เพราะกลิ่นของมันทำเอาคนในย่านนั้นไม่สบาย วิงเวียนพานจะเป็นลม อีกทั้งเกสรที่ฟุ้งกระจายยังส่งผลต่อคนเป็นภูมิแพ้อีกด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้งานสวนสาธารณะฯ ชี้แจงว่า พญาสัตบรรณเป็นต้นไม้ที่ปลูกตามโครงการป่าของเมือง ซึ่งมีอายุประมาณ 10 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวต้นพญาสัตบรรณกำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะโตเร็ว ให้ร่มเงาดี โดยไม่คำนึงถึงเรื่องกลิ่นของดอกว่าจะรุนแรง แต่ปัจจุบันทางจังหวัดก็มีนโยบายให้ตัดแต่ง หรือหาต้นไม้ที่เหมาะสมมาปลูกทดแทนแล้ว

ส่วนบางบ้านที่ปลูกต้นพญาสัตบรรณ พอถึงช่วงที่มันบานดอกเต็มต้นก็มีอันต้องจ้างคนมาตัดออกเสีย ซึ่งเรามักพบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ อันที่จริงนอกจากกลิ่นรบกวน ต้นพญาสัตบรรณยังโตเร็วมาก มีระบบรากใหญ่ที่ชอนไชไปได้ไกลถึง 20-30 เมตรเลยทีเดียว ดังนั้น มันจะเซาะทำลายฐานรากของบ้าน งัดเอารั้วพังมานักต่อนัก รวมถึงทางเดินเท้าที่ปูอิฐบล็อกเรียบสวยก็ปูดโปนแตกร้าว กล่าวกันว่า การลงทุนปลูกต้นพญาสัตบรรณใช้เงินแค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ค่าใช้จ่ายในการขุดต้นพญาสัตบรรณที่โตเต็มที่ชนิดใหญ่มโหฬารแบบถอนรากถอนโคนต้องใช้เงินถึง 40,000-50,000 บาท

จึงมีคนเสนอให้เทศบาลหันมาปลูกต้นไม้ที่ออกดอกสวย (และแน่นอนว่าต้องไม่มีกลิ่น) อย่างต้นเหลืองอินเดีย หรือต้นไม้ชนิดอื่นที่มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด แล้วจัดส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยวไปด้วยพร้อมกัน เป็นอันจบแบบสวยๆ ไม่จบแบบแย่ๆ เหมือนต้นพญาสัตบรรณที่โดนข้อหาส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการถูกตัดจนเหี้ยน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1192 วันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์