วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ชีวิตเปื้อนหมึก

จำนวนผู้เข้าชม IP Address
           
ช่วงนี้ตามหมู่บ้านมีใครสังเกตบ้างว่ามีรถเร่ขายหมึกราคาถูกมาตระเวนขายกันอย่างคึกคัก แถวบ้านพิชัยมีรถคันหนึ่งมาแต่เช้า ประกาศปาว ๆ ว่า ขายหมึกสดราคากิโลกรัมละ 50 บาท ที่ขายถูกได้ เพราะไปรับมาจากเรือโดยตรง ???

หมึกที่เรากินกันอยู่นั้น แรก ๆ มีอยู่ไม่กี่ชนิด หมึกกล้วย หมึกหอม หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกศอก

หมึกกล้วยพบทั่วไปในอ่าวไทย รูปร่างยาวเรียว ลำตัวกลม ครีบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้านท้าย ในลำตัวมีกระดองใสเหมือนแผ่นพลาสติก ถูกจับขึ้นมาด้วยวิธีไดหมึก จากนั้นจะถูกนำไปคัดแยกตามขนาด ก่อนส่งขายให้กับแพรับซื้อ แพปลาก็จะขายให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้ออีกต่อหนึ่ง เพื่อนำไปขายตามชุมชน ที่เหลือก็ส่งให้โรงแรม ร้านอาหาร

หมึกหอมและหมึกกระดองพบทั้งแถบอ่าวไทยและอันดามัน บางทีก็นำเข้าจากเมียนมาทางจังหวัดระนอง ก่อนจะส่งต่อมายังกรุงเทพฯ หรือมหาชัย

หมึกหอมมีลำตัวเป็นทรงกระบอก ความยาวประมาณ 26 เซนติเมตร ครีบ หรือแพนข้างตัวทั้งสองข้างมีลักษณะกว้างและแบนยาวเกือบตลอดลำตัว ที่ลำตัวมีจุดสีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนหมึกกระดองมีความยาว 15-25 เซนติเมตร ลำตัวเป็นถุงรูปไข่ หัวมีขนาดใหญ่

หมึกสายส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าโรงต้ม จากนั้นถูกนำไปตาก แปรรูปเป็นหมึกหวาน หมึกเค็ม ขายเป็นของฝาก

หมึกศอกคือหมึกกล้วยใหญ่ ราคาดีที่สุด โดยอยู่ที่กิโลกรัมละ 270-290 บาท ส่วนใหญ่เป็นหมึกตก จึงสดมาก เนื้อดี ห้องเย็นจะรับซื้อแล้วฟรีซเก็บไว้ขายในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง อาทิ เทศกาลสำคัญต่าง ๆ

หลัง ๆ มานี้ ตามห้างจะนำหมึกชนิดหนึ่งมาชำแหละขาย นั่นคือ หมึกฮัมโบลด์ (Humboldt squid) หมึกกล้วยขนาดใหญ่อาศัยชุกชุมแถบชายฝั่งแปซิฟิก แคลิฟอร์เนีย เม็กซิโก เป็นหมึกที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาน้ำทะเลแถวนั้นอุ่นขึ้น มันจึงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว แล้วก็ถูกจับส่งออกเป็นอาหารราคาถูกไปทั่วโลก บางคนเรียกหมึกเกาหลี เนื้อหนา เหนียวมาก จึงนิยมแยกชิ้นส่วนขาย

ยังมีหมึกอีกชนิดเรียกว่าหมึกอาร์เจนตินา (Argentine shortfin squid) หมึกชนิดนี้เองที่มีคนนำมาขายตามตลาดนัดและใส่รถเร่ เป็นหมึกกล้วยชนิดหนึ่งอยู่ในน้ำลึก 50-200 เมตร มีมากแถบมหาสมุทรแอตแลนติกด้านทิศตะวันตก บริเวณประเทศอาร์เจนตินา อุรุกวัย สีออกคล้ำจนม่วง ปีกหมึกสั้นกว่าหมึกกล้วยของไทย เนื้อไม่หวาน มีกลิ่นคาวจัด พ่อค้าแม่ค้าบางคนเรียกว่าหมึกอินโดฯ พวกนี้ไปรับมาจากสะพานปลา โดยมาเป็นก้อนแช่แข็ง ขายเหมามาก้อนละ 10-20 กิโลกรัม ตกกิโลกรัมละ 35-40 บาท นำมาขายตามตลาดนัด หรือเร่ขายในหมู่บ้าน กิโลกรัมละ 50-100 บาท

หมึกอาร์เจนฯ เดินทางแรมเดือนจากทะเลกว่าจะถึงมือเรา ผ่านการแช่ฟอร์มาลีนและดองด้วยเกลือมาเท่าไร ทำไมเนื้อมันยังเด้ง ดูสด นั่นเพราะพอจะขายเรา เขาจะนำไปตีน้ำเกลือให้มันละลายและตัวใหญ่ขึ้น เนื้อจึงดูสด และแน่นอน ไร้กลิ่นใด ๆ แม้กระทั่งกลิ่นของตัวมันเอง

สำหรับคนชอบกินหมึก นอกจากพึงตระหนักถึงพิษสะสมในร่างกายแล้ว ที่ควรระวังมาก ๆ คือหมึกสายวงฟ้า หรือหมึกบลูริง ซึ่งมีพิษร้ายแรงมาก และเป็นข่าวโด่งดังว่าพบปะปนมากับหมึกอื่น ๆ วางขายอยู่ในตลาดบ้าง ในห้างบ้าง

หมึกสายวงฟ้าอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นชายฝั่ง พบทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ปกติมักแอบอยู่ตามรู ซอกหิน หรือกอสาหร่าย ไม่ดุร้าย ไม่ได้ออกมาลอยเพ่นพ่านเหมือนพวกแมงกะพรุนกล่อง ขนาดความยาวลำตัว 15-60 มิลลิเมตร มีลายรูปวงแหวนสีน้ำเงิน หรือสีฟ้าอยู่ทั่วตัว

พิษของหมึกชนิดนี้ประกอบด้วยพิษที่เรียกว่า TTX (tetrodotoxin) ชนิดเดียวกับปลาปักเป้าและไม่มียาแก้พิษ คนส่วนมากมักไม่รู้ตัวว่าโดนกัด ภายในเวลา 5-10 นาทีจะมีอาการปากแห้ง ตาพร่า หายใจและกลืนน้ำลายลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้นจะหยุดหายใจภายในเวลา 2 ชั่วโมง เพราะพิษของหมึกสายวงฟ้าออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ คนที่ถูกพิษจึงมีอาการคล้ายอัมพาต หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ ว่ากันว่า หมึกสายวงฟ้าตัวเดียวมีพิษมากพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 75 กิโลกรัม จำนวน 10 คน เป็นอัมพาตได้ นอกจากนี้ พิษของมันยังแทรกอยู่ในเนื้อและไม่สลายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้น หากนำไปปรุงอาหารกินก็ตายได้เช่นกัน

 อย่างไรก็ตาม แม้หมึกสายวงฟ้าจะพบในไทย แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก โอกาสเสี่ยงมีน้อย และหากเราสังเกตดี ๆ ก็สามารถแยกได้ เพราะแม้มันจะตายแล้ว แต่ก็ยังพอมองเห็นลวดลายได้ชัดเจน

จากหมึกยักษ์แดนไกลมาถึงหมึกจิ๋วสวยประหาร นี่ยังไม่รวมเรื่องไข่หมึกที่ว่ากันว่าเป็นหมึกยัดไข่ คือไข่จริงนั่นแหละ แต่เป็นไข่ไก่ผสมแป้ง อาจมีไข่หมึกปนอยู่เล็กน้อยพอให้มีกลิ่น เฮ่อ คนชอบกินหมึกนี่อยู่ยากขึ้นทุกวัน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1190 วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์