วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ศักดิ์ ส.รัตนชัย ปูชนียบุคคล คนหนังสือพิมพ์

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ห้วงปลายสัปดาห์ ลานนาโพสต์ ตั้งวงเสวนา ว่าด้วย “ท่องเที่ยว วิถีชุมชนยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของลำปาง” เป็นรูปแบบหนึ่งในการเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และกระจายข่าวสารเหล่านั้นไปยังช่องทางต่างๆ ตามปณิธานในการเป็นสื่อชุมชน

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว นักวิชาการ ชาวบ้าน รวมทั้งสื่อมวลชน ที่น่ายินดี คือในกลุ่มสื่อมวลชนนั้น ปรากฏภาพชายสูงอายุผู้หนึ่งนั่งรถวีลแชร์ เข้ามาร่วมเสวนาด้วย เป็นชายสูงอายุ ที่ “จอกอ” รู้จักคุ้นเคยมานานปีแล้ว หลังจากขอเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกสื่อลำปางก่อนหน้านี้

ศักดิ์ หายหน้าไปจากวงการนานปี ด้วยเจ็บป่วยตามวัยสังขาร ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ ครั้งสุดท้ายที่พอทุเลาอาการ กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน แต่ก็ไม่สามารถเดินเหินไปมาได้ตามปกติอีก มาร่วมเสวนาครั้งนี้ก็ด้วยการติดต่อประสานงานของลานนาโพสต์ ให้รถเทศบาลมาส่งมารับ

ทุกครั้งที่พบหน้า ศักดิ์ ส.รัตนชัย หรืออาจารย์ศักดิ์มักมีงานศึกษา ค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังเสมอ โดยเฉพาะเรื่องราวของรถไฟลำปาง ที่เป็นจุดกำเนิดของรถม้าลำปาง เพราะเมื่อสมัยที่มีการตัดทางรถไฟมาถึงลำปางในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ใช้รถม้าเป็นพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมือง

“..รถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีรถไฟอ้อยด้วย อยู่กลางเมืองลำปางเลย ตอนนี้ซ่อนอยู่ในโรงเรียนเทคนิค น่าจะเอาออกมาเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยว”

อาจารย์ศักดิ์ เสนอความเห็นจากหน้าเวทีในวันเสวนา

อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจารย์ศักดิ์บอกกับผมคือ เรื่องความถูกต้องระหว่างคำว่า “ล้านนา” กับ “ลานนา” ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ส่วนหนึ่ง เพราะเราใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่าลานนาโพสต์ แทนที่จะเป็นล้านนาโพสต์ ซึ่งเป็นการสะกดคำของคนส่วนใหญ่

จากการสืบค้นของ “จอกอ” พบคำอธิบายของคุณบุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ ที่เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า

ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ลำปางวิจัย ครั้งที่ 1 พ.ย.2557 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง อาจารย์ศักดิ์ขอพิจารณานำกระทู้ ลานนาล้านนา เป็นของใคร? สู่หัวข้อการวิจัย ซึ่งกระทู้นี้มีอายุเริ่มแต่ปี 2530 ถึงปัจจุบัน 27 ปี และอาจารย์จะเข้าสู่วัย 86 ปี(อายุขณะนั้น) แล้ว จึงขอเดิมพันชีวิตปริศนา ลานนาล้านนา เป็นของใคร?” เป็นหัวข้อใหม่แห่งการวิจัยในวงวิชาการระดับชาติอันชอบธรรม ใครจะเห็นตามทฤษฎีต้องใช้ล้านนาจึงจะถูกต้องทุกกรณีหรือเห็นต่าง หากมีหลักฐานจารึกก่อนเชียงใหม่ 7 กษัตริย์สองแผ่นดินล้านช้างล้านนา พ.ศ.2096 โดยพบคำว่า ล้านนาลำปาง ล้านนาแพร่ ล้านนาน่าน มาแสดงทางวิชาการระดับชาติได้ ศักดิ์ ส.รัตนชัย จะถวายชีวิตเป็นเดิมพัน

อาจารย์ศักดิ์ต่อสู้เรื่องชื่อทางประวัติศาสตร์นี้มานานหลายสิบปี โดยพระสงฆ์เถระ และนักวิชาการหลายจังหวัดในภาคเหนือเห็นด้วยควรใช้คำ ลานนา มีแต่จังหวัดเชียงใหม่ที่ยืนยันใช้ ล้านนา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สืบค้นอย่างรอบด้าน ส่งผลให้เกิดความผิดแผกในภาษาของคนเมืองเหนือ

ข้อสรุปนี้จึงแปลว่า ชื่อลานนาโพสต์ เป็นชื่อที่เขียนได้ถูกต้องแล้ว

นับถึงวันนี้อาจารย์ศักดิ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีอาวุโสสูงสุด คือมีอายุถึง 90 ปี  และถึงแม้ว่า

การทำหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพหลัก จะเป็นความหวั่นไหวของชีวิตของคนหนังสือพิมพ์ พ.ศ.นี้ แต่สำหรับอาจารย์ศักดิ์ และเสียงโยนกย่อมเป็นข้อยกเว้น

Old Soldiers Never Die ทหารแก่ไม่เคยตาย นักหนังสือพิมพ์แก่ๆก็ไม่เคยตายเช่นเดียวกัน ขอคารวะด้วยหัวใจ ปูชนียบุคคลคนหนังสือพิมพ์ ศักดิ์ ส.รัตนชัย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1207 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์