วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2562

ข่าวเด็กย้ำสำนึกผู้ใหญ่ รู้เท่าทันสื่อไร้รับผิดชอบ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
รากฏการณ์เด็กนักเรียนหญิงวัย 14 ปี หายไป ซึ่งต่อมาเมื่อขยายผลการติดตาม และพบว่ามีบางเรื่องราวที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์  จากข่าวเด็กหาย กลายเป็นข่าวที่สื่อทั้งกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์รุมทึ้งกันสนุกสนาน ล่วงละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิในครอบครัว และทำผิดกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการทำงานที่มุ่งแต่จะขายข่าวเลย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ออกจดหมายเปิดผนึก สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  แถลงการณ์ ย้ำเตือนให้สื่อตระหนักในหน้าที่อย่างฉับพลันทันที โดยเฉพาะสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือสมาชิก รวมทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ลบข่าวนี้ออก พร้อมประสานงานกับกูเกิล  ดำเนินการลบข่าวออกจากระบบข้อมูลสำรอง ซึ่งเป็นวิธีการกำกับดูแลกันเองในเรื่องจริยธรรม และแสดงผลในทางปฎิบัติจริงจัง

ไม่เพียงเรื่องจริยธรรม การละเมิดสิทธิเด็กยังเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยกฎหมายกำหนดเกณฑ์อายุไว้สำหรับผู้กระทำความผิดที่ควรต้องรับรู้ด้วย

การกำหนดเกณฑ์อายุ เด็ก (ไม่เกิน 15 ปี) เยาวชน (15 ปี ไม่เกิน 18 ปี) ในทางจิตวิทยา สิ่งใดที่กระทบกระเทือนจิตใจพวกเขาในวัยนี้ จะอยู่ในใจ เป็นปมด้อย และเป็นปัญหาสังคมในอนาคต ดังนั้นกฎหมายคุ้มครองเด็ก จึงกำหนดว่า เด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ

สื่อที่มุ่งแต่ขายข่าว ไร้ความรับผิดชอบ คิดแต่จะสนองตอบสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ จะเห็นความพยายามในการติดตามสัมภาษณ์พ่อเด็ก คนในครอบครัวของเขา โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตพวกเขา เมื่อเวลาผ่านไป

สื่อที่สังกัดสภาวิชาชีพแห่งหนึ่ง ตั้งคำถามกับพ่อเด็กที่เห็นชัดว่าตอบคำถามด้วยความลำบากใจ เสียงสั่นเครือ เพราะเขาไม่รู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครอง และมีสิทธิที่จะปฎิเสธการให้สัมภาษณ์ จนกระทั่ง เขาบอกว่ายังไม่ได้คุยกับลูก เพราะลูกกำลังอยู่ในระหว่างปรับสภาพจิตใจอยู่ สื่อก็ยังไม่ลดละพยายามจะเค้นถามเอาความจริงที่ไม่เป็นสาระประโยชน์อันใดเช่นนั้นให้ได้

นี่เป็นการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วไป เป็นการตรากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก มิให้ถูกทารุณกรรม ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

การทำทารุณกรรมต่อเด็กและเยาวชน เป็นสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ โดยได้นิยามความหมายของคำว่า “ทารุณกรรมว่า หมายถึง การกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดๆจนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

การใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เช่น การรายงานข่าวเด็กหายที่เกินเลยไปถึงการละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิครอบครัว

ดังนั้น ภาพข่าวที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก หรือเกี่ยวกับการทำทารุณกรรม หน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้สูญเสียอิสรภาพ หรือการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ รวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์เด็กและสิทธิสตรีที่มักนำเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงนับเป็นความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ความว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิ ประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับ ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ซึ่งมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นเดียวกัน

วิธีการหนึ่งที่จะให้บทเรียนสื่อที่ไร้ความรับผิดชอบ คือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีสื่อที่ละเมิดเป็นตัวอย่างให้หลาบจำสักครั้ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1213 วันที่ 18 - 24 มกราคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์