วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

ภาพของช้าง

จำนวนผุ้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ก่อนการแสดงของช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จะสิ้นสุดลง หลายคนคงจำได้ว่า ควาญช้างจะให้ช้างแสดงการวาดภาพต่อหน้าผู้ชม แล้วหลังจากนั้นใครจะซื้อภาพก็นำเงินเข้าศูนย์ฯ หรือไม่ก็เก็บไว้ขายในร้านค้าต่อไป

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 ศิลปินชาวรัสเซีย Komar and Melamid  ได้เปิดการแสดงอันน่าทึ่ง ด้วยการวาดรูปกับช้างในสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 พวกเขาเดินทางมาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง แล้วช้างของเราก็ได้เรียนรู้การวาดภาพตั้งแต่นั้น ช้างวาดภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงช้าง ที่สำคัญ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยยังเป็นปางช้างแห่งแรกในประเทศไทยที่ฝึกให้ช้างวาดภาพได้

ภาพที่วาดโดยช้างมีการนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ ทั้งยังได้รับการนำเสนอตามสื่อต่าง ๆ โดยมีทั้งที่วาดตามจินตนาการของช้างเอง และย่อมมีบ้างที่ควาญช้างจะเป็นผู้จับงวงช้างในการจับพู่กันเพื่อวาดภาพ จึงไม่แปลกหากภาพวาดของช้างจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์หรือไม่

การนิยามความหมายของศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หลายคนยอมรับว่า งานศิลปะ คือ งานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดสิ่งที่สะท้อนความคิด จิตใจ จิตวิญญาณของตนเองออกมาเป็นผลงาน

อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบว่า ช้างมีความสุขและเพลิดเพลินกับการละเล่นเช่นเดียวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม การเต้นรำ หรือศิลปะ ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะไม่ถูกบังคับให้วาดภาพ เชือกไหนชอบวาดก็ให้วาด เชือกไหนไม่ชอบก็ไม่บังคับกัน

งวงของช้างมีความยาวและอ่อนนุ่มตรงปลาย ช่วยให้ช้างสามารถหยิบจับวัตถุที่ต้องการได้ โดยครูฝึกจะสอนให้ช้างจับพู่กันโดยใช้งวงพันรอบพู่กัน ในขณะที่บางคนสอนให้วางแปรงลงในรูจมูกในส่วนของปลายงวง เพื่อให้ช้างควบคุมฝีแปรงได้มากขึ้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ครูฝึกจะคอยช่วยเหลือช้างในขั้นตอนการวาดภาพ บางคนช่วยแนะให้พอเป็นแนวทาง ในขณะที่บางคนก็ปล่อยให้ช้างสร้างผลงานของเขาด้วยตัวเอง จะช่วยเหลือก็เพียงจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ เช่น ตั้งขาตั้งสำหรับวางกรอบผ้าใบ จัดสีและแปรงไว้ เราจึงได้เห็นผลงานศิลปะแบบนามธรรม หรือ Abstract แต่ไม่ว่าอย่างไร ผลงานภาพวาดของช้างก็เทียบได้กับการวาดภาพโดยเด็กอายุ 8 ขวบเท่านั้น ต่างกันแค่ผลงานของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ถือเป็นงานศิลปะ แต่ผลงานของช้างหลายคนว่ายังไม่น่าจะใช่

สำหรับเรา ภาพวาดโดยช้างจะเป็นศิลปะไหมไม่สำคัญ ขอแค่มันได้สร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับช้างก็พอแล้ว

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ใน พ.ศ. 2512 ออป.ได้จัดสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ ที่บ้านปางหละ อำเภองาว แต่เนื่องจากมีนโยบายปิดป่าทำให้ช้างว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ออป. ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ที่นี่จัดให้มีการการแสดงของช้าง ซึ่งยังคงอนุรักษ์ศิลปะการทำไม้ซึ่งใช้ช้างเป็นพาหนะ และแรงงานที่สำคัญ ในการชักลากไม้ที่ได้จัดแสดงให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศได้ชม มี 3 รอบ เวลา 10.00 น. 11.00 น. และ 13.30 น. มีการอาบน้ำช้างก่อนเวลาแสดง คือ 09.45 น. สำหรับวันธรรมดา และเวลา 13.15 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 170 บาท เด็ก 110 บาท ส่วนช้างแท็กซี่ หรือขี่ช้างชมธรรมชาติ ขี่ช้างท่องไพร มีทุกวัน เวลา 08.00-15.30 น. นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการได้หลายเส้นทาง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 5482 9329, 0 5482 9333

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1221 วันที่ 15 - 21 มีนาคม 2562)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์