วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562

เขียนให้คด ความจริงที่ถูกบิดเบือน เหตุเกิดที่สำนักข่าววิภาวดี

จำนวนผุ้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

งค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่สังคมได้ยินวาทกรรมซ้ำๆ คือ ไทยพีบีเอส เป็นหน่วยงานด้านการสื่อสารมวลชนเพียงแห่งเดียวของไทยที่มีเงินไหลเข้าองค์กรปีละอย่างน้อย 2 พันล้านบาท โดยผู้บริหารไม่ต้องดิ้นรนอะไร

ในความเป็นจริง เงินจำนวนนี้ มาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ องค์การ ที่เขียนไว้ว่า ให้องค์การมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงองค์การ จากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุรา และยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท

เงินสองพันล้านบาทที่กำหนดแหล่งที่มาของทุนจากภาษีสุราและยาสูบ หรือที่เรียกว่าภาษีบาป ก็เพื่อให้องค์การสื่อแห่งนี้ ปลอดจากทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ อันเป็นแนวคิดและปรัชญาในการก่อตั้ง ที่ต่อเนื่องมาจากการปฎิรูปสื่อหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ภายใต้งบประมาณจำนวนนี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่า ไทยพีบีเอสมีภารกิจเพียงเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเท่านั้น เช่น การส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น พื้นที่ของไทยพีบีเอส ทุกตารางนิ้ว จึงไม่ได้หมายถึงหน้าจอทีวีเท่านั้น หากยังหมายถึงกิจกรรมทางสังคม ทางวิชาการอีกมากมาย ที่เปิดกว้างให้ผุ้คนทุกหมู่เหล่ามาใช้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้โดยไม่คิดมูลค่า

ในขณะเดียวกัน กฎหมายไทยพีบีเอส ยังวางระบบในการบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลอย่างเข้มข้นด้วย โดยเฉพาะการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี โดยคณะกรรมการประเมินผลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกองค์การ

ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการกำหนดโครงสร้างเงินเดือน ผลตอบแทนต่างๆ ในมาตรฐานที่ไม่แตกต่างไปจากองค์กรสื่ออื่น หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการนโยบายซึ่งเป็นผู้กำกับ และรับผิดชอบสูงสุด อัตราค่าตอบแทนกำหนดไว้ชัดเจนในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งไม่ได้มีผลตอบแทนเป็นหลักแสน หรือมีสิทธิประโยชน์พิเศษมากกว่าองค์กรสื่ออื่นทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน  ยกเว้นประธานกรรมการซึ่งอาจมีผลตอบแทนสูงกว่าเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาขององค์การรัฐทั่วไปที่อยู่ในรูปของคณะกรรมการ

นอกจากค่าตอบแทนที่ไม่ได้สูงตามจินตนาการของ คนข่าวบางคนแล้ว การทำงานสื่อที่ไทยพีบีเอส ยังมีนัยสำคัญที่แตกต่างจากการทำงานในสื่อเชิงพาณิชย์ที่อื่นๆ คือจะต้องปฎิบัติตามกฎหมาย คือการบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ 

อีกทั้งต้องผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพสูง พวกเขาจึงต้องทุ่มเทความสามารถ ที่จะต้องผลิตข่าวและรายการที่มีคุณภาพพร้อมๆไปกับความรับผิดชอบเชิงจริยธรรม ซึ่งบางครั้งอาจเห็นว่า ไทยพีบีเอสเสียโอกาสในการเสนอข่าวเร้าอารมณ์ ข่าวที่ขายได้ แต่ไม่มีความรับผิดชอบ เช่น ภาพข่าวนักเรียนแทงกันตายบนรถเมล์ หรือข่าวการเมือง ก็จะต้องไม่ให้ความสำคัญกับความขัดแย้ง ไม่โอนเอียงฝ่ายใด เช่นเดียวกับสื่อเลือกข้างบางค่าย

คุณภาพของข่าว และรายการส่วนหนึ่ง ย่อมยืนยันได้จาก 8 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ และอีกหลายรางวัลก่อนหน้านี้ รวมทั้งการรายงานข่าวถ้ำหลวง ซึ่งไทยพีบีเอสได้รับการชื่นชมจากชุมชนพันธุ์ทิพย์ว่าเป็นสถานีในดวงใจของพวกเขา

ในฐานะสื่อสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์ไทยพีบีเอส เป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะสถานีแห่งนี้สร้างขึ้นมาจากเงินภาษีของประชาชน ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ไทยพีบีเอสต้องเปิดกว้างและรับฟังความเห็นต่างได้ แต่ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่เขียนให้คด จับต้นชนปลายไม่ถูก หรือใส่ความเท็จ ทำให้คนอ่านสำคัญผิดในข้อเท็จจริง

คุณภาพของคนทำสื่อ อาจมีวิธีวัดมากมาย แต่หัวใจสำคัญที่จะวัดความน่าเชื่อถือของสื่อนั้น คือความซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริง ความไม่พยายามบิดเบือนเรื่องราวให้เข้ากับความเชื่อของตัวเอง โดยฟังเขาเล่าว่า หรือการทำซ้ำในเรื่องเดิมๆ สำนวนโวหารเดิมๆ ด้วยพื้นฐานอคติที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1219 วันที่ 1 - 7 มีนาคม 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์