วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

ต่อยอดเครื่องประดับแฮนด์เมด เปิดบ้าน'อารีเซรามิค'ฝึกมือ-ขายงาน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

จากเส้นทางหักเหของการปรับตัวยุคเศรษฐกิจขาลง ของอุตสาหกรรมเซรามิก ส่งผลให้โรงงานเซรามิกรายเล็กๆ ที่เคยผลิตชามตราไก่ ของที่ระลึกต่างๆ ของ เล็ก อารีย์ โตเมศร์ ต้องพัฒนาหาทางอยู่รอด จากความเชี่ยวชาญพิเศษ ของการวาดลายไก่จิ๋ว เป็นพวงกุญแจชามไก่จิ๋วเป็นแรงบันดาลใจให้ ลองหันมาวาดไก่จิ๋วในงานชิ้นเล็กๆที่ใช้วัตถุดิบให้น้อยลง กระบวนการผลิตไม่ยุ่งยาก และสามารถทำเองได้โดยไม่ใช้แรงงานเหมือนอุตสาหกรรมยุคเดิม

งานชิ้นเล็กๆที่ว่านี้ พี่เล็ก เริ่มจากการทำกระดุมลายไก่ และพัฒนามาเป็นเซรามิกชิ้นเล็กๆ เอามาร้อยเข้ากับวัสดุอื่นๆ เป็นเครื่องประดับ ชิ้นเล็กๆเช่น ต่างหู จี้สร้อยคอ งานเซรามิกร้อยกับยางรัดผม และงาน DIY อื่นๆตามยุคสมัยในกลุ่มคนชอบงานแฮนด์เมด

เมื่อ ปรับเปลี่ยนตัวเองสำเร็จ งานด้านการตลาดก็สำคัญ พี่เล็ก เริ่มต้นจากการ ออกร้านแนวสาธิตสอนให้คนใช้งานเซรามิกชิ้นเล็กๆมา ทำเครื่องประดับด้วยตนเอง เป็นการสร้างลูกค้าโดยธรรมชาติ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงตัว อีกส่วนหนึ่งก็ทำหน้าร้านที่ถนนคนเดินกาดกองต้า ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่กำลังมองหาซื้อของฝาก และของใช้ แนวงานศิลปะ ได้ซื้อหาและทำเอง ทำให้เป็นที่รู้จักจากการแชร์เรื่องราวผ่านโซเชียลของลูกค้า และ การเรียนรู้พัฒนาตัวเองด้านการใช้สื่อโซเชียลของพี่เล็กเองด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้มีลูกค้าทั้งขายปลีก และขายส่งเข้ามาในระบบการค้าขายหนาแน่นขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยก็ว่าได้
 
เมื่อมาถึงจุดที่ลงตัว ที่มีลูกค้าและคนทั่วไปให้ความสนใจมากขึ้น พี่เล็กจึงตกแต่งบ้านของตัวเองที่เดิมเป็นโรงงานเซรามิกอยู่แล้วให้เป็น ศูนย์เรียนรู้เครื่องประดับอารีเซรามิก เปิดบ้านให้ไปเที่ยวชม และ ขายโปรแกรมเวิร์คช็อป สำหรับผู้สนใจฝึกทำเครื่องประดับเซรามิก ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การปั้นดิน เพ้นท์ลงสีเคลือบ การเผา แล้วประกอบชิ้นงานเป็นเครื่องประดับความน่ารักของ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ คือ ผู้ถ่ายทอด คือคุณเล็กเองและลูกสาว ที่ได้รับการสืบทอดฝีมือจากคุณแม่ จนกลายเป็นทายาทธุรกิจไปแล้ว เป็นผู้สอนและ ร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปอย่างเป็นกันเอง เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562  

ประสงค์ นาแพร่ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 กล่าวถึงศูนย์เรียนรู้เครื่องประดับแห่งนี้ ว่า จากการเข้าเยี่ยม สถานที่ของศูนย์เรียนรู้ มองเห็นโอกาสของการเติบโตที่ดี เพราะสินค้าประเภท งานฝีมือแฮนด์เมดยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทุกยุคสมัย การนำเซรามิกมาเป็นส่วนประกอบของการทำเครื่องประดับ แล้วเปิดให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการลงมือทำ นอกเหนือจากการขายชิ้นงาน ก็ถือว่า เป็นแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ที่น่าในใจ มีความแตกต่างในเชิงการตลาด ดึงดูดความสนใจได้ดี ขณะเดียวกันการทำศูนย์เรียนรู้แนวนี้ ถือเป็นผู้ประกอบการจำนวนน้อยที่หันมาทำธุรกิจกึ่งการเรียนรู้ ควบคู่กันไป เป็นแบบอย่างที่ดีต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ และเป็นแนวทางขยายผลแนวคิดไปยัง กลุ่มผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่น รายอื่นด้วยเช่นกัน
 
ทานทัต ยมเกิด ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก กล่าวว่า อารีย์เซรามิกเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการกับทางศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก ที่ได้นำแนวทางความรู้มาพัฒนาตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการเติบโตพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกที่ต้องอาศัยงานฝีมือเชิงสร้างสรรค์ เป็นทางออกที่น่าสนใจ และมีอัตลักษณ์ สร้างมูลค่าจากวัตถุดิบเซรามิกได้อย่างคุ้มค่า มีความคิดเชิงศิลปะสร้างสรรค์ให้อุตสาหกรรมเซรามิกลำปางเป็นที่รู้จักในแง่มุมใหม่ๆ ที่อยากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเซรามิกรายอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิต และแนวทางการผลิตเซรามิก จากแนวคิดที่แตกต่างทำให้เกิดการพัฒนาให้มีศักยภาพขีดความสามรถในการแข่งขัน

ที่นี่คือบ้านของพี่ พี่อยู่กับเซรามิกมากว่าครึ่งชีวิต มันคือความรักและความภูมิใจ แรงบันดาลใจที่ทำให้พี่พัฒนาตัวเองให้เห็นอนาคตของทางรอด ด้วยงานศิลปะ ลูกสาวพี่ก็รับการถ่ายทอดฝีมือ และอัตลักษณ์ที่เราเป็น คือการรักษาเอกลักษณ์ลายไก่ในชิ้นงาน และการแต่งกายแบบชุดพื้นเมือง ให้นักท่องเที่ยว ลูกค้าที่มาพบเจอเราได้ชื่นชมความเป็นล้านนา มีความเป็นลำปาง มีตราไก่ มีสีสันอื่นๆในงานเซรามิกของเรา ใครมาลำปางก็เชิญชวนแวะทักทาย คนลำปางก็มาเที่ยวชมเรียนรู้กับเรานะคะ พี่เล็ก อารีย์ โตเมศ กล่าวพร้อมกับยิ้มพิมใจในความสำเร็จอีกก้าวในวันนี้

สำหรับ ศูนย์เรียนรู้เครื่องประดับอารีเซรามิก ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองยาง ใกล้แยกหลักกิโล อำเภอเมืองลำปาง ฝั่งปั้มน้ำมัน ปตท. สามารถเยี่ยมชมได้ ทุกวันทำการ หรือค้นหาข้อมูลทางไลน์ หรือ  สอบถามการจองโปรแกรมเวิร์คช็อป หรือจากหน้าร้านกาดกองต้า

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1225 วันที่ 12 - 25 เมษายน 2562)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์