วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

คนบ้านดงลุยขอ 20 ล้าน บริหารเอง จี้เร่งกฎหมายภาคหลวงแร่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ชาวบ้าน ต.บ้านดง จี้ กฟผ.ยกเว้นระเบียบการใช้เงิน 20 ล้าน มอบให้ อบต.บริหารจัดการเอง เผยปัญหาที่ผ่านมา ไม่สามารถใช้เงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหตุติดขัดระเบียบบางประการ   ขณะเดียวกันขอให้เร่งรัด พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับค่าภาคหลวงแร่ทุกฉบับ และการเก็บภาษีจากที่ทิ้งมูลดิน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ต.บ้านดง ประมาณ 50 คน เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดลำปาง  เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ขอให้ช่วยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  ซึ่ง กฟผ.แม่เมาะ ได้ขอใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ ใช้เป็นที่ทิ้งมูลดินจากการทำเหมืองลิกไนต์ จำนวน  22   ไร่เศษ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่น กลิ่น และเสียง มาเป็นเวลานาน จนต้องมีการขออพยพออกจากพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร

นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า  ชาวบ้าน ต.บ้านดง ได้รับความเดือดร้อนตังแต่ กฟผ.แม่เมาะได้ก่อตั้งและเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแหล่งที่ กฟผ.ใช้ทิ้งมูลดินทรายจากการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าภาคหลวงแร่ เพราะไม่ได้เป็นแหล่งขุดถ่านหินเหมือน ต.แม่เมาะ ทำให้ในพื้นที่ขาดโอกาสในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นและเสียงตามมาด้วย  ซึ่งที่ผ่านมาทาง ต.บ้านดงได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก กฟผ.ตามบันทึกข้อตกลงปี 20 ล้านบาทก็จริง แต่ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการงบประมาณเองได้โดยอิสระ  โดยงบ 8 ล้านบาท ให้ทางหมู่บ้านเสนอโครงการมาหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และที่เหลือ 12 ล้านให้ อบต.บ้านดงจัดการ นำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ  ซึ่งการทำโครงการของหมู่บ้านก็มักจะมีปัญหา บางหมู่บ้านงบตกไป 2-3 แสนบาท ก็ต้องมาหักที่ส่วนรวมของ อบต.ไป  ทำให้ไม่ได้รับงบประมาณที่ชาวบ้านควรจะได้ ชาวบ้านเสียประโยชน์ด้วยเงื่อนไขข้อระเบียบต่างๆ  ยกตัวอย่างในช่วงปี 59-60 ได้ใช้งบประมาณเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเงินทีเหลือก็ต้องตกไปและกลับคืนให้กับทาง กฟผ. เงินไม่ได้เข้า อบต.ไม่ได้ลงสู่ชาวบ้านอย่างที่ควรจะเป็น  ขณะที่บุคคลภายนอกมองว่า ต.บ้านดงได้รับงบประมาณจาก กฟผ.จำนวนมาก แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น  จึงอยากให้ปลดระเบียบการใช้เงิน 20 ล้านบาทออก ให้ทาง อบต.บริหารจัดการเองได้

 

อีกเรื่องคือ ขอให้เร่งรัดติดตาม การจัดทำร่าง พ.ร.บ.กระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ..... และร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ..... ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  และให้มีการแก้ไขประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560   และพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากที่ทิ้งมูลดินทรายของ กฟผ.  ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อปี 54 เคยมาพูดคุยร่วมกันแล้วครั้งหนึ่งกับทางจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อหาข้อเท็จจริงและข้อสรุป ให้ อบต.สามารถจัดเก็บภาษีทิ้งดิน แต่มีการชะลอไปเนื่องจากมีข้ออ้างว่ามีเงินชดเชยเข้ามา จึงให้รอจนกว่า พ.ร.บ.แร่จะบังคับใช้ แต่ตอนนี้ก็ทำได้เพียงต่อรอเท่านั้น   นายก อบต.บ้านดงกล่าว

ทั้งนี้ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด  ได้มารับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยกล่าวว่า  เรื่อง พ.ร.บ.กระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ..... และร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ..... ได้มีการติดตามตรวจสอบไปแล้ว ส่วนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกา อีกส่วนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ทางจังหวัดก็จะช่วยติดตาม และแจ้งยืนยันว่าขอให้หลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.อยู่คงเดิม  รวมถึงในขั้นตอนการร่างกฎหมายวาระ 2 จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้  จะมีการนำเสนอว่าขอให้ตั้งคนในพื้นที่ จ.ลำปางเข้าร่วมด้วย  อีกส่วนเรื่องของที่ทิ้งมูลดิน หน่วยงานที่อนุญาตการใช้พื้นที่คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.) จึงจะมอบให้ทาง ทสจ.และท้องถิ่นจังหวัดไปตรวจสอบข้อกฎหมายว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง  ส่วนกรณีข้อตกลงระหว่าง กฟผ. และ อบต. ก็คงต้องมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถจ่ายอย่างอิสระได้ เหมือนภาคเอกชน เพราะ กฟผ.เป็นหน่วยงานของรัฐ  จึงต้องมีขอบเขต  เรื่องนี้เข้าใจทั้งสองฝ่ายขอให้ กฟผ.รับไปศึกษาว่าจะแก้ไขกฎระเบียบอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ผ่อนคลายลง อาจจะหาวิธีและกระบวนการที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

จากนั้นหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ได้ขอให้ทางตัวแทนชาวบ้านขึ้นไปพูดคุยหารือในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว 3 ฝ่าย คือ จังหวัด กฟผ. และ ต.บ้านดง  มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน โดยให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานภายใน 7 วัน  โดยเร่งรัดติดตามเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ฯ  และเรื่องการจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายและชาวบ้านสามารถติดตามความคืบหน้าได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์