วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562

คนแม่ทะฮือ น้ำจางเน่า ร้องเยียวยา กฟผ.ยันไม่ละเลย

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ส.อบจ.พร้อมกำนันอำเภอแม่ทะ ยื่นร้อง กฟผ.ไม่เหลียวแล ปล่อยลำน้ำแม่จางสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านแม่ทะเน่าเสีย  อีกทั้งเสี่ยงสารพิษปนเปื้อนจากน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนของ กฟผ. ลั่นพื้นที่ติดกันแต่ขาดงบประมาณช่วยเหลือ ขณะที่ กฟผ.แม่เมาะแจงไม่ได้ละเลย แม้น้ำไม่เพียงพอต่อการผลิต ก็ยังปล่อยน้ำช่วยชุมชนต่อเนื่อง  พร้อมตรวจสารปนเปื้อนก่อนปล่อยทุกเดือน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 นายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.ลำปาง อ.แม่ทะ พร้อมด้วยนายควง ทากอง กำนันตำบลดอนไฟ  นายมงคล เสนาธรรม กำนันตำบลวังเงิน  นายเจนศักดิ์ เยี่ยมวัฒนาพร กำนันตำบลหัวเสือ และนายณรงค์ วงค์กันทะ กำนันตำบลนาครัว ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง  รวมทั้งยื่นต่อนายอำเภอแม่ทะ  เรื่องความเดือดร้อนผลกระทบของชาวบ้าน 8 ตำบล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง  ประกอบด้วย ต.หัวเสือ ต.ดอนไฟ ต.วังเงิน ต.แม่ทะ ต.นาครัว ต.บ้านกิ่ว ต.ป่าตัน และ ต.น้ำโจ้ รวมประชากรประมาณ 8 หมื่นคน 


กลุ่มกำนันในพื้นที่อำเภอแม่ทะ ร่วมกันเปิดเผยว่า ชาวบ้านอำเภอแม่ทะ ได้อาศัยลำน้ำแม่จางในการหล่อเลี้ยงชีวิตมายาวนานกว่า 100 ปี  ภายหลังทาง กฟผ.ได้มาสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2518  รวม 44 ปีแล้ว  และกำลังจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องเก่าต่อเนื่อง  โดยล่าสุดจะมีการทำ ค.1 หรือรับฟังความคิดเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 62 นี้  ทางกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมานานแล้ว จึงต้องการเรียกร้องให้ทาง กฟผ. ใส่ใจความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยอมเสียสละผลกระทบทั้งชีวิตเพื่อคนทั้งประเทศ

นายเจนศักดิ์ เยี่ยมวัฒนาภรณ์ กำนันตำบลหัวเสือ กล่าวว่า หลังจากมีการสร้างโรงไฟฟ้าและสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่จางขึ้นสำหรับผลิตไฟฟ้า หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหาอะไร เพระชาวบ้านคิดว่าเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ปัจจุบันลำน้ำแม่จางที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนแม่ทะ กลับแห้งเหือด เน่าเสีย มีวัชพืช ได้รับผลกระทบมากมาย เช่น ในฤดูฝนมีน้ำหลากจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนท่วมขังบ้านเรือนราษฎร สวน ไร่ นา  ส่วนในฤดูแล้ง เขื่อนก็ต้องกักน้ำไว้ใช้ผลิตไฟฟ้าทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้เพียงพอ จนเดือดร้อนกันไปทั่ว หากต้องการน้ำก็ต้องยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอแม่ทะ ขอให้ กฟผ.ปล่อยน้ำมาให้ ทั้งที่ลำน้ำแม่จางเป็นของชาวบ้านทุกคนที่ใช้ร่วมกันได้ และการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะสู่ลำน้ำแม่จาง อาจทำให้ชาวบ้านมีความเสี่ยงต่อการใช้น้ำที่มีสารปนเปื้อน แต่กลับไม่ได้รับการดูแล เยียวยาเท่าที่ควร  ขณะเดียวกันพื้นที่ของ ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้ามากกว่าพื้นที่ของ อ.แม่เมาะบางพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่กลับได้รับการดูแล แก้ไข ทั้งในด้านงบประมาณและวิธีการต่างๆ   จึงวอนขอให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะชาวบ้าน อ.แม่ทะ ก็ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเช่นกัน   หากไม่ได้รับความสนใจหรือการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม  เราจะหารือกันและร่วมกันต่อสู้ เรียกร้องความยุติธรรมต่อไป

ด้านนายชัยพร ไพฑูรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า ตลอดเส้นทางลำน้ำแม่จางก่อนที่จะไปลงสู่แม่น้ำวังในเขต อ.เกาะคา ได้มีเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.เข้าไปดูแลการวัดระดับน้ำที่ฝายรวม 15 ฝาย ตามเส้นทาง ทุก 2 เดือน ในช่วงแล้งทางอำเภอแม่ทะจะมีหนังสือแจ้งเข้ามาขอเปิดน้ำสนับสนุนลงไป ทาง กฟผ.ก็จะดูแลและดำเนินการให้ตลอด  เราให้ความสำคัญกับระดับน้ำของชุมชนเป็นอันดับแรก แม้ว่าในช่วงแล้งที่ กฟผ.มีน้ำไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า แต่ก็ยังปล่อยให้ชุมชนโดยตลอด


ส่วนที่ชาวบ้านกังวลเรื่องน้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าจะมีสารปนเปื้อนเป็นอันตรายนั้น ทาง กฟผ.ขอยืนยันว่า น้ำที่ส่งลงไปได้มีการตรวจวัดทุกเดือน และส่งให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบ โดยมีการรายงานผลมาตลอดว่าค่าต่างๆไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด  ในการดูแลตลอดลำน้ำหากพบปัญหาน้ำเน่าเสียก็จะส่งนักเคมีเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจวัด และทดสอบค่าว่าเป็นผลอย่างไร  เราได้ช่วยดูแลอย่างเต็มที่ในส่วนที่สามารถทำได้
ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่า  สำหรับการดูแลด้านคุณภาพชีวิต จะมีกฎหมายที่ให้ดูแลด้านผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ารัศมี 5 กิโลเมตรอยู่ ซึ่งการเรียกร้องของชาวบ้านอำเภอแม่ทะ อาจจะต้องลงไปดูในพื้นที่อีกครั้งว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง กฟผ.มีงบ CSR จำนวนหนึ่งที่จัดสรรมาให้ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะ แต่ต้องดูตามกฎระเบียบด้วย คงจะต้องปรึกษาอย่างผู้บริหารอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายชัยพร ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า  ปัญหาต่างๆที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบนั้น อยากให้นำมาบอกกล่าวกันในการจัดทำเวทีรับฟังคิดเห็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.1) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9   ในวันที่ 13 กรกฎาคม 62 นี้ ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ
เพราะประเด็นเหล่านี้จะได้รับการบันทึกและหาแนวทางแก้ไขและป้องกันร่วมกันได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1232 วันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์