วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Foodie ผจญภัยในจานอาหาร

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เวลาไปเดินถนนวัฒนธรรมในเย็นวันศุกร์ ภาพที่คุ้นเคยมักจะต่างไปจากกาดกองต้า คือเรามักเห็นผู้คนเลือกซื้อของกิน แล้วเดินกินไปเรื่อย ๆ ชิมโน่นนิดนี่หน่อย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งไทยและฝรั่ง เห็นแววตาก็รู้เลยว่า กำลังสนุกและตื่นเต้นที่ได้เห็นของกินแบบ Street Food ของบ้านเรา

มีการพูดถึง Food Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหารมาสักระยะหนึ่งแล้ว การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ คือการเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์อาหารเฉพาะท้องถิ่น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่สืบทอดกันมาเป็นมรดกอาหาร ทุกวันนี้ อาหารจึงไม่ใช่ส่วนประกอบของการท่องเที่ยวที่ถูกละเลยอีกต่อไป นักท่องเที่ยวไม่ได้เลือกกินฟาสต์ฟู้ดที่รู้จัก หรือเลือกเฉพาะร้านอาหารที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวของตนเอง แต่หันมาดั้นด้นเสาะหา รู้จักร้านเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ร้านเก่าแก่โทรม ๆ (แต่อร่อยเทพ) หรือแม้แต่ร้านที่คนในพื้นที่เองยังไม่เคยได้ยินชื่อ

สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารในประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยผ่านการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรแบบ Smart Farming ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แนวทางการพัฒนาแบบ Thailand 4.0 มีการกล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารควบคู่ไปกับการพัฒนากรรมวิธีการผลิตของภาคเกษตร โดยจะมุ่งเน้นประสบการณ์สัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น นาข้าว สวนผลไม้ออร์แกนิก และอาหารเพื่อสุขภาพ

“เที่ยวเพื่อกิน” จึงเป็นแนวโน้มการท่องเที่ยวที่น่าจับตา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มค่อนข้างสูง และมักมองหาอาหารพื้นถิ่นแปลกใหม่ในแต่ละที่ที่เดินทางไป โดยถือว่าอาหารเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในการท่องเที่ยว พวกเขาเสาะแสวงหาอาหารแปลก ๆ ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อตระเวนชิมอาหารตามสถานที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ได้ชิมเมนูนั้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ได้มีการสำรวจความเห็นจากหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับประเทศและภูมิภาคทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารพบว่า

ร้อยละ 88.2 มองว่า อาหารเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างแบรนด์และยกระดับภาพลักษณ์ของท้องถิ่น

ร้อยละ 67.6 มองว่า องค์ประกอบสำคัญที่สุดต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ คุณภาพและความหลากหลายของวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่นเดียวกับร้านอาหาร ซึ่งสามารถนำเสนออาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมและความแปลกใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นไว้ได้

ร้อยละ 62 ให้ความสำคัญกับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร การเรียนการสอนทำอาหาร และเวิร์กช็อปเกี่ยวกับอาหาร

หลายคนคงคุ้นเคยกับพฤติกรรมเพื่อน ๆ เมื่อร่วมโต๊ะเดียวกัน พออาหารทยอยมาเสิร์ฟ ก็เอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปอาหารในจาน ต้องรอจนกว่าจะโพสต์ในโซเชียลมีเดียก่อนนั่นล่ะ จึงยอมให้เพื่อน ๆ ลงมือกินได้ เราเรียกคนเหล่านั้นว่า Foodie (ฟู้ดดี้)

ฟู้ดดี้กำลังทำให้อาหารกลายเป็นองค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยว คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เพียงชอบถ่ายภาพอาหารก่อนกินเท่านั้น แต่หมายถึงคนที่หลงใหลในเรื่องอาหารมาก ๆ จริงจังกับการปรุงอาหาร การเลือกวัตถุดิบ การสร้างบรรยากาศในร้าน การตกแต่งจาน ค้นหาความรู้เกี่ยวกับอาหาร ตำนาน ประวัติความเป็นมา ไปจนถึงการพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่องเล่า รสนิยมของตนเอง ออกไปให้คนอื่นรับรู้ผ่านทางสื่อโซเชียล

สถิติสนุก ๆ เกี่ยวกับมุมมองเรื่องอาหารของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จากบทความเรื่อง “Is food the new status symbol ?” ในเว็บไซต์มีเดียโพสต์

ร้อยละ 44 ของคนอายุ 21-24 ปี โพสต์รูปภาพอาหารและเครื่องดื่มที่ตนเองกำลังจะกินในโซเชียลมีเดีย
ร้อยละ 61 ของคนอายุ 21-24 ปี ต้องการไปชิมอาหารในร้านเปิดใหม่มากกว่าไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่
ร้อยละ 52 ของคนอายุ 21-32 ปี ต้องการไปร่วมงานเทศกาลอาหารมากกว่าไปงานเทศกาลดนตรี
ร้อยละ 42 เข้าร้านอาหารหรูอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และบางครั้งยอมใช้ 1 ใน 4 ของเงินเดือนทั้งเดือนสำหรับอาหารมื้อเดียว

วลีที่ว่า “กินเพื่ออยู่” ดูเหมือนจะถูกสั่นคลอน เพราะในความหมายของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร อาหารการกินไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เสียแล้ว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1235 วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์