วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ยัน 2 เขื่อนใหญ่ ไม่วิกฤต ผอ.กิ่วลมย้ำน้ำน้อยแต่พอ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ผอ.โครงการกิ่วลมฯ ยันเขื่อนใหญ่ในลำปางทั้ง 2 แห่ง น้ำน้อยแต่เพียงพอ  จัดสรรไว้ทำประปาและเกษตรแล้ว   ขณะที่อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง แห้งขอดเหตุจากฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำไหลเข้า  ด้านชลประทานยันไม่วิกฤติ  ขณะที่ชาวบ้านใช้โอกาสน้ำลด ออกหาปลาประทังชีวิตกันอย่างคักคัก

จากปัญหาน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่ลดปริมาณลงจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่าง ทำให้ส่งผลต่อปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงอาจจะกระทบกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่เขื่อนกิ่วลม ซึ่งมีบริการล่องแพอยู่หลายเจ้าด้วยกัน

 

นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้เปิดเผยเกี่ยวกับ สถานการณ์น้ำในสองเขื่อนใหญ่ของ จังหวัดลำปาง สองแห่ง คือเขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกิ่วลม พบว่า น้ำต้นทุนรวมทั้ง 2 เขื่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกลงมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 62  ปัจจุบันทั้งสองเขื่อนมีน้ำใช้การได้รวม 139 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมาจาก 2 วันก่อน ถึง 60 ล้าน ลบ.ม.   ขณะเดียวกันน้ำในเขื่อนยังสามารถบริหารจัดการส่งไปยังพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร และส่งน้ำไปรักษาระดับน้ำในเขื่อนกิ่วลม เพื่อที่เขื่อนกิ่วลมจะส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรในพื้นที่ชลประทาน ที่กำลังเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไปจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ได้ นอกจากนี้ยังเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา โดยที่ไม่มีปัญหา ส่วนระดับน้ำที่แห้งลดลงนั้น ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เขื่อนกำหนดไว้ แต่ก็ยังไม่ถือว่าน้ำในเขื่อนแห้งจนวิกฤติ เพราะน้ำที่เหลือในเขื่อนคือน้ำต้นทุนของปีที่ผ่านมา และยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี   ส่วนกรณีที่ฝนทิ้งช่วงก็มาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ หากจังหวัดลำปาง ไม่มีเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลมก็จะเกิดภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำไปนานแล้ว แม้ว่าน้ำจะไม่ไหลเข้าเขื่อนกิ่วคอหมา แต่ก็ยังมีน้ำต้นทุนที่เพียงพอในการบริหารจัดการจนกว่าฝนจะมาในปีนี้

 

นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่อ่างเก็บน้ำแม่ทะ (อ่างเก็บน้ำวังเฮือ) ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง  ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งหนึ่งของ จ.ลำปาง  โดยบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ  ได้เกิดน้ำแห้งขอดจนเห็นสภาพของพื้นดินที่แตกระแหง และมีแอ่งน้ำอยู่ตรงกลางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านหน้าสันอ่าง ซึ่งห่างจากท้ายอ่างประมาณ 500 เมตร พบว่ามีน้ำอยู่ระดับหนึ่ง  จากรายงานสรุปสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำระดับกลาง วันที่ 22 ก.ค. 62 พบว่าน้ำในอ่างมีอยู่ 0.24 ล้าน ลบ.ม.หรือเทียบเป็น 9 เปอร์เซ็นต์  จากปกติอ่างเก็บกับน้ำได้ประมาณ 2.5 ล้าน ลบ.ม.โดยพบว่า ระดับน้ำต่ำกว่าท่อระบายน้ำล้น ของอ่างไปจนถึงตัวฐานรากกว่า 10 เมตร

เมื่อน้ำแห้งลงไม่สามารถไหลผ่านช่องระบายน้ำล้นของอ่างได้แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ และต่างพื้นที่ได้นำอุปกรณ์ มาจับปลาในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้กันอย่างคึกคัก เพื่อหารายได้เสริมและนำไปประกอบอาหารกิน โดยชาวบ้านในพื้นที่ และปลูกบ้านหากินกับอ่างน้ำแห่งนี้มากว่า 40 ปี เล่าว่า ตนมีอาชีพอาสัตว์น้ำในอ่างแห่งนี้และทำสวนเกษตรทั่วไปโดยใช้น้ำในอ่าง แต่ในปีนี้ ฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำแห้งขอดลงไปเรื่อยๆจนถึงขั้นวิกฤติในรอบ 20 ปี แต่โชคดีที่เมื่อวันที่ 21 ก.ค.62 มีฝนตกลงมาบ้าง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแต่ก็ยังถือว่าดีกว่าหลายวันที่ผ่านมา

 
ด้านนายธนิต คำมีอ้าย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานลำปาง กล่าวว่า สภาพน้ำในอ่าง เก็บน้ำแม่ทะ หรือ อ่างเก็บน้ำวังเฮือ มีสภาพที่แห้ง แต่ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เพราะอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ สร้างอยู่เขตอำเภอเมืองลำปาง แต่น้ำถูกปล่อยไปใช้ประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยมีฝายรองรับอีก 7 ตัว ซึ่งการปล่อยน้ำแต่ละครั้งจะมีการเรียกประชุมชาวบ้านในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทุกปี โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูทำนา ก็จะแจ้งประชุมปล่อยน้ำจากอ่างเพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูก ปีละ 2 ครั้ง และทุกปีก็จะร่วมกับชาวบ้านในการพัฒนาอ่างน้ำแห่งนี้เป็นประจำ จนชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากอ่างแห่งนี้จะเตรียมพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำทุกครั้ง แต่ในปีนี้ฝนทิ้งช่วงและไม่มีน้ำเติมในอ่างจึงทำให้ระดับน้ำลดลงและถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ยังรักษาระดับน้ำเพื่อคงสภาพตัวสันเขื่อนให้แข็งแรง เพื่อที่จะรอฝนคาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า น้ำจะเติมเต็มในอ่างเหมือนทุกปี

 
ส่วนผู้ประกอบการแพ ในอ่างที่สภาพแพเกยตื้นไม่สามารถประกอบกิจการได้ เบื้องต้นทราบว่า ทางผู้ประกอบการได้ยุติการประกอบกิจการมานานแล้ว ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำในอ่างแห้งแต่อย่างใด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562 )

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์