วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เลี้ยงธรรมชาติ ได้ไข่อารมณ์ดี วิถีพอเพียง 'หมอวี' สู่ฟาร์มไก่

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

จากการทำงานด้านปศุสัตว์มานาน และพบเห็นสัตว์ถูกฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปเพื่อกระตุ้นร่างกาย และยังมีการจ่ายสัตว์ออกจำหน่ายให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสารเคมีต่างๆที่อยู่ในตัวสัตว์ได้ส่งต่อให้กับมนุษย์ทางอ้อม เกิดการสะสมและเกิดโรคร้ายตามมา  ทำให้ น.สพ.ทวีวัฒน์ เคลือหิรัญ หรือ หมอวี ได้ตัดสินใจออกจากงานประจำ และหันมาเปิดฟาร์มไข่ไก่อารมณ์ดี ไร่ธรรมชาติ ผลิตสินค้าปลอดภัยและมีคุณภาพส่งตรงให้กับผู้บริโภค


น.สพ.ทวีวัฒน์ เคลือบหิรัญ หรือ หมอวี อายุ 41 ปี  ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่า  พื้นเพของหมอวีเกิดและโตที่กรุงเทพมหานคร  แต่ด้วยความชอบอากาศเย็นของทางภาคเหนือ  จึงได้มาซื้อที่ดินตั้งรกรากอยู่ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง  จากความฝันของคุณพ่อที่อยากมีสวน  และคุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งจากการได้รับสารเคมีต่างๆมามาก ประกอบกับตนเองได้ทำงานอยู่ในฟาร์ม กับสัตว์และได้เห็นว่าการให้ยากับสัตว์ไม่มีระยะหยุดยา เกิดการตกค้างในสัตว์ที่ส่งออกต่อผู้บริโภค คิดว่าอยากจะผลิตอาหารดีๆให้ผู้บริโภค  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดไร่ธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ฟาร์มไข่ไก่อารมณ์ดี  โดยทำการปรับพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงไก่  และเริ่มจากการเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ  ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ 100 เปอร์เซ็นต์  ตอนนี้ที่ฟาร์มมีไก่ 185 ตัว เป็ด 31 ตัว ไก่ประดู่ 40 ตัว ซึ่งเป็นไก่ที่เพาะพันธุ์เอง

เป้าหมายที่ตั้งใจคือ ลดสารปนเปื้อนและสารเคมีให้น้อยที่สุด  โดยจะมีมาตรฐานมี 4 ข้อ คือ ไม่มีตัวผู้ในฝูง  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ 100 เปอร์เซ็นต์  ไม่มีการเปิดแสงไฟเพื่อเร่งผลผลิต รวมทั้ง ดิน น้ำ และอาหาร ต้องมีการตรวจรับรองว่าไม่มีสารตกค้าง  และยังมีการเปิดเพลงให้ไก่ฟัง  เพราะเคยอ่านบทความพบว่าเรื่องเสียงเพลงมีผลกับคุณภาพชีวิตของสัตว์ให้อารมณ์ดีขึ้น และการสร้างพฤติกรรมให้สัตว์คุ้นเคยกับเสียงดังหรือเสียงแปลกปลอม

ฟาร์มแห่งนี้เริ่มต้นจากการทำเกษตรปลอดภัย เพราะข้อดีของการทำเกษตรปลอดภัยคือ ตัวเราไม่ได้รับสารเคมี และได้ส่งออกสินค้าคุณภาพออกไปสู่ผู้บริโภค  ได้บุญทางอ้อม ได้ผลผลิตไม่มีสารพิษหรือยาปฏิชีวนะ ที่เป็นสาเหตุของการดื้อยา ที่เกิดจากการสะสมในอาหาร  ซึ่งมาจากการใช้ยาในการปศุสัตว์ค่อนข้างสูง เคยพูดคุยกับแพทย์ที่รู้จักกัน ทราบว่า การทานเนื้อสัตว์ที่มียาสะสม จะทำให้ร่างกายเราได้รับปริมาณยาอ่อนๆเป็นระยะเวลานานและเกิดการสะสมในร่างกาย  แพทย์พบว่าการดื้อยามีมากขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2550 เนื่องจากมีการใช้ยาเกิดขนาดในปศุสัตว์ ทำให้คนไข้ต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ  เมื่อใช้ยาจนหมดแล้วคนไข้ยังดื้อยาอยู่ คนไข้ก็จะหมดโอกาสในการรักษา จึงมีความตั้งใจมากในการทำอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

ในช่วงแรกของการทำเกษตรมา 2 ปี  ได้เข้าอบรมกับสถาบันต่างๆ เข้าปีที่ 3 ได้เริ่มรู้จักกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมืองรถม้า และสมัครเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ เทคนิคต่างๆในการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดิน นำมาปรับใช้กับในฟาร์มของเรา  ล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการ Safe for sure ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เป็นโครงการที่ดี มีการการันตีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผู้ผลิตตั้งอยู่ที่ไหน มีการผลิตอย่างไร  โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์และสร้างความมั่นใจได้ว่าสินค้าได้รับการการันตีจากโครงการได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

น.สพ.ทวีวัฒน์ กล่าวอีกว่า ช่วงปลายปี 62 นี้ จะมีโปรดักส์ของไข่ไก่จากไก่พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งความแตกต่างของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็คือจะต้องมีตัวผู้ในฝูงเท่านั้น ตัวเมียจึงจะยอมไข่  เหตุที่จะต้องไม่มีตัวผู้เนื่องจากว่าเราไม่ทราบวิธีการเก็บรักษาไข่ของผู้บริโภค หากมีการผสมกับไก่ตัวผู้ไข่จะมีเชื้อและจะฝักเป็นตัวได้  ตอนนี้ทางฟาร์มสามารถปรับการเลี้ยงไม่ให้มีตัวผู้ในฝูงก็ออกไข่ได้แล้ว และปลายปีนี้ตั้งเป้าจะขยายจำนวนไก่ในฟาร์มให้ได้ถึง 500 ตัว


นอกจากนั้นยังมีไข่เป็ด ที่นำไปทำเป็นไข่เค็ม โดยปรับสูตรของฟาร์มเองโดยเฉพาะ  เพราะเจอปัญหาว่าไข่เค็มขาวไม่สามารถกินได้เพราะเค็มเกินไป จึงกินได้แต่ไข่แดง  ตนจึงได้ไปศึกษาหาข้อมูลเพื่อมาปรับสูตรมาใหม่ ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน  จนเข้าที่ทำให้ไข่เค็มของฟาร์มเป็นไข่เค็มที่ไข่ขาวมีรสชาติเค็มนิดๆและไข่แดงก็อร่อยกำลังดี นำไปทอด และต้มได้  มีวางจำหน่ายได้ประมาณ 6 เดือนแล้ว

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หมอหนุ่มเมืองกรุงจะโยกย้ายถิ่นฐานมาทำฟาร์มต่างถิ่นห่างไกลครอบครัว มาคนเดียว จนในช่วงแรกหลายคนคิดว่าหนีคดีมา หนีความผิดมา  เพราะน้อยคนนักที่จะมีความตั้งใจที่จะทำเช่นนี้ แต่หมอวี พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้เมื่อเริ่มลงมือทำอย่างเป็นระบบ  และเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง เป็นคำตอบของความตั้งใจนั้น

สอบถามรายละเอียด เฟซบุ๊คเพจ : ไร่ธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์