วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สื่อคือกระจกสะท้อนสังคม สื่อมิใช่สมุนนักล่าแม่มด

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

นสภาพสังคมการเมืองกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ มีความพยายามที่จะแยกแบ่งระหว่างนักการเมืองฝ่ายสืบทอดเผด็จการ และนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งไม่เพียงนักการเมืองเท่านั้น หากแต่สื่อก็นับว่ามีบทบาทสำคัญในการตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายด้วย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เช่น นักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เป็นการเติบโตขยายตัวจากการเมืองระดับชาติ ที่ผู้คนคาดไม่ถึง จนกระทั่งการมีบทบาทที่คึกคักยิ่ง ในการเสนอตัวเป็นทางเลือกในระดับการเมืองท้องถิ่น ที่น่าสนใจคือในขณะที่พรรคการเมืองขนาดกลาง-ใหญ่ ยังนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวมากนัก แต่กับพรรคอนาคตใหม่ กลับมีผู้เสนอตัวเป็นตัวแทนของพรรคในการลงสนามการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก และหลายคนก็มีคะแนนนิยมที่หวังผลได้

การล่าแม่มด ซึ่งหมายถึงการแสวงหาบุคคลฝ่ายตรงข้าม แล้วตราหน้าว่าเป็น “แม่มด” เป็นความชั่วร้ายที่ต้องขจัดให้หมดไปจึงเปิดฉากขึ้น โดยนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ และสื่อมวลชนบางกลุ่มที่เกลียดชังพรรคอนาคตใหม่ ก็ร่วมขบวนการล่าแม่มดกับเขา เพื่อตอบสนองอคติส่วนตัวของตัวเองด้วย

ความพยายามในการ ลดทอนความเชื่อถือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ล่าสุดคือการกล่าวหาว่า ภาพและเสียงการสัมภาษณ์นายธนาธร ณ สำนักใหญ่ บีบีซี กรุงลอนดอน โดยนายนพพร วงศ์อนันต์ บก.บีบีซีไทย เป็นการสร้างภาพโดยอ้างว่า สำนักงานใหญ่ บีบีซี ย้ายไปเมืองแมนเชสเตอร์แล้ว และไม่มีนักข่าวฝรั่งมาสัมภาษณ์ หรือเข้าไปนั่งพูดคุยในสตูดิโอ

ความเป็นจริง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พักการทำหน้าที่ชั่วคราว เขาจึงเลือกที่จะเดินทางไปทำหน้าที่นอกสภา ในฐานะที่ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ทั้งการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในประเทศ และการดูงาน สนทนาวิสาสะกับผู้คนในต่างประเทศ เส้นทางยุโรป อังกฤษ และสหรัฐ ก็คือเส้นทางที่ ทำให้เขามายืนให้สัมภาษณ์นายนพพร วงศ์อนันต์ บก.บีบีซีไทย หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ที่ปรากฎชื่อ บีบีซี ชัดเจน

ในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ ที่นำชัยชนะอย่างถล่มทลายมาให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่ประเทศไทย ในฐานะ celebrities และในฐานะบุคคลสาธารณะ จึงไม่มีข้อใดที่ต้องสงสัยว่า เหตุใดเขาจึงเป็นแหล่งข่าว ที่บก.บีบีซีไทยให้ความสนใจ การตั้งข้อสังเกตุเชิงเหยียดแคลนของเรื่องราวที่อ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับสูงในวงการสื่อสารมวลชน จึงน่าสงสัยว่า คนผู้นั้นเข้าใจหลักการการทำงานอย่างมีจรรยาบรรณ หริอไม่ อย่างไร

สำนักงานใหญ่ บีบีซี ยังอยู่ที่กรุงลอนดอน เป็นเรื่องไม่ยากหากจะตรวจสอบข้อเท็จจริง นายนพพร วงศ์อนันต์ บก.บีบีซีไทย สัมภาษณ์นายธนาธร ก็เป็นขอบเขตหน้าที่ของเขาในเรื่องราวของเมืองไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนักการเมือง มีความคิด มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบของเขา ซึ่งผู้คนยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา และหากนายธนาธร แสดงความเห็น มีความผิดพลาดในเรื่องใด เขาก็ย่อมมีความรับผิดชอบต่อคนที่เลือกเขามา

คนจำนวนมากเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวนายธนาธร ซึ่งก็ต้องให้ความเคารพในฉันทามติที่คนเหล่านั้นให้กับพรรคอนาคตใหม่

ในขณะที่คนอีกจำนวนมาก เลือกพรรคพลังประชารัฐ เลือกพรรคที่แสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็ต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นของคนเหล่านั้นเช่นกัน

หากจะต่อสู้เพื่อยืนยันแนวทางของแต่ละฝ่าย ก็ต้องสู้กันด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง ต้องอยู่ในกติกาประชาธิปไตยที่สุจริต หาใช่ประชาธิปไตยที่มุ่งร้าย ทำลายกันนอกกติกาไม่

สื่อมวลชน ก็เช่นเดียวกัน สื่อมวลชนมิอาจแยกตัวออกจากสังคม สื่อมวลชนก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป มีความเชื่อ มีทัศนคติ ในทางการเมือง มีความรู้สึกไม่ชอบ ไม่พอใจแหล่งข่าว ไม่ถูกชะตา มีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆเหนือเหตุผล แต่ในการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะเขาจำเป็นต้องแยกอคติส่วนตัว ออกจากอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น

มีสื่อจำนวนไม่น้อย ที่แสดงบทบาทรับใช้การเมือง รับใช้พรรคการเมืองที่เจ้าของสื่อนั้นสังกัด ไม่ว่าพวกเขาจะถูกตำหนิติเตียนในการทำหน้าที่ เป็นเพียงกระบอกเสียงของพรรคการเมือง หรือร่วมในขบวนการล่าแม่มดของนายจ้าง แต่ดูเหมือนความอยู่รอดสำคัญกว่าความรับผิดชอบ

มีเพียงประชาชนผู้บริโภคข่าวสารเท่านั้น จะให้บทเรียนกับสื่อที่ไร้ความรับผิดชอบเหล่านี้ได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1239 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์