วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รัฐธรรมนูญหลุดโลก เรื่องหุ้นสื่อ คนไม่ผิดลอยนวล คนผิดติดกับดัก

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านการลงประชามติ ซึ่งเป็นข้ออ้างหลักของบรรดา ส.ส.รัฐบาล และวุฒิสมาชิกมาแล้ว แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะนำความยุ่งยากมายังการเมืองไทย ขนาดต้องทอดเวลายาวนานหลายเดือน กว่าจะประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส.กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ เนื่องเพราะมีความตั้งใจที่จะซ่อนเงื่อนปมปัญหาไว้ โดยมีเป้าหมายที่เรียกกันว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

คงไม่ใช่เพราะ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็น คสช.แต่ “ม้าสีหมอก” เคยมีประสบการณ์ร่วมกับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้รู้ ได้เห็นว่า บรรดา สปช. สปท.ที่รัฐบาลแต่งตั้ง ล้วนทำตัวเป็นผู้รับใช้ คสช.วางแนวทางปฎิรูป เป็นการสนองตอบประยุทธ์ จันทร์โอชา เกือบทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดช่องให้ “เตะตัดขา” พรรคไทยรักษาชาติ จนกระทั่งพรรคการเมืองพรรคนี้หมดสิทธิที่จะมาเป็นพรรคพันธมิตร กับพรรคเพื่อไทย ทำให้เสียงของพรรคเพื่อไทยไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาคือการสกัดดาวรุ่ง  เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยข้อหาการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 98 (3)

พูดกันว่า  ข้อห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ เป็นบทบัญญัติที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญกลัวว่า ส.ส.จะใช้อิทธิพลครอบงำสื่อ สร้างกระแสข่าวที่เป็นผลดีกับตนเอง ในขณะเดียวกันก็ใช้สื่อโจมตี ให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม

ซึ่งไม่จริง ไม่จริงทั้งในแง่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้เขียนห้ามเรื่อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ และไม่จริงทั้งในแง่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการตัดตอน หรือลดอิทธิพลของเจ้าของสื่อ ในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือรับใช้ทางการเมือง

ตัวอย่างองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง ที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าของ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานทางทะเบียน ใช้สื่อโจมตีฝ่ายค้าน และสวนกระแสสังคมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างออกนอกหน้า หรือกระทั่งสื่อในเครือกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด คุมอยู่ ก็เป็นเครื่องมือรับใช้อำนาจและสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างไม่อ้อมค้อม

เช่นนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร เมื่อความเป็นจริง ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ในการห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่ออย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ได้ห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ แต่เขียนไว้ในมาตรา 48 ว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

รัฐธรรมนูญปี 2560  ไม่มีข้อความนี้ แต่ไปบัญญัติห้ามตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.หรือการเสนอตัวเข้ารับการสรรหาของ ส.ว.คือต้องไม่ถือหุ้นสื่อตั้งแต่แรก ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42(3) ที่ระบุว่าเป็นลักษณะต้องห้ามของการสมัครรับเลือกตั้ง

ความคิดของ กรธ.จึงเป็นเรื่องประหลาดมาก นอกจากไม่เข้าใจภูมิทัศน์ของสื่อ ลักษณะของอุตสาหกรรมสื่อ แนวคิด ทัศนคติความเชื่อในเรื่องอิทธิพลของสื่อแล้ว ยังไปเขียนรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานความเชื่อว่าจำเป็นต้องลอกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆมาเป็นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น เนื้อหาที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับยุคสมัย จึงปรากฎขึ้น ขณะที่เรื่องที่ต้องเขียนให้ชัด เช่น การถือครองหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือตีความว่ายังเป็นเจ้าของสื่อ เช่นกรณีองค์กรสื่อแห่งหนึ่ง กลับยกเลิกไป

คงมีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย และคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตอบคำถามสังคมเรื่องส.ส.ถือหุ้นสื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโฑสต์ ฉบับที่ 1237 วันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์