วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ความตายของมาเรียม ความไม่รับผิดชอบของมนุษย์

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

วามตายของ “มาเรียม” พะยูนเพศเมีย ซึ่งเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ติดตาม ฟูมฟัก ดูแล ป้อนนม ป้อนหญ้าทะเล เป็นความเศร้าสะเทือนใจที่ไม่เพียงผู้ใกล้ชิดมาเรียมเท่านั้น หากคนทั้งประเทศที่เฝ้าติดตามชีวิตของมาเรียมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็รู้สึกถึงความสูญเสียด้วย

วันที่ 29 เมษายน 2562 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบพะยูนเกยตื้น บริเวณอ่าวทึง หมู่ 4 ตำบอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6 7 เดือน จึงนำพะยูนไปปล่อยบริเวณบ้านแหลมจูโหย หมู่1 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และดูแลมาเรียมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ปลายเดือนมิถุนายน 2562 อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มอบชุดอุปกรณ์ดูแลมาเรียม พร้อมสั่งติดตั้งกล้องไลฟ์สด เกาะติดชีวิตพะยูนมาเรียม เพื่อดูแล รักษาความปลอดภัยให้มาเรียม อีกทั้งให้ประชาชนได้เห็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งคนที่เฝ้าติดตามเจ้าพะยูนน้อย ก็ได้เห็นเธอปรับตัวได้ดีขึ้น สามารถว่ายน้ำตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ด้วยตนเอง

แต่มาเรียมก็ยังเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็คอยดูแลนำมาเรียมออกไปปล่อยในเขตน้ำลึกทุกครั้ง มีการเฝ้าระวังมาเรียมตลอด 24 ชั่วโมง จนในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มาเรียมไม่ค่อยเกยตื้น ช่วงน้ำลด สัตวแพทย์ก็พามาเรียมหัดกินหญ้าทะเลด้วยตัวเอง

คล้ายมาเรียม จะปรับตัวได้ดีขึ้น แต่ในช่วงวันที่ 7 สิงหาคม มาเรียมมีอาการอ่อนเพลีย ดื่มนมได้น้อย และไม่ค่อยจะว่ายน้ำ วันถัดมา มาเรียมมีอาการซึม ไม่กินอาหาร หายใจผิดปกติ เปิดช่องจมูกนาน 5 วินาที ลมหายใจมีกลิ่น ผายลมมีกลิ่นเหม็น

11 สิงหาคม มาเรียม มีอาการซึม อ่อนเพลียมาก เสียงลมหายใจผิดปกติ มีอาการลอยตัวด้านซ้าย แสดงถึงการอักเสบของปอด ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ผนังท้องมีอาการบวมน้ำ เยื่อเมือกบริเวณช่องปากพบแผลหลุมเปื่อย 2-3 แห่ง บริเวณแพนหางพบรอยด่างขาว เหมือนติดเชื้อไวรัส

จนกระทั่งวันที่ 16 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ดูแลเฝ้าระวังมาเรียมในบ่อผ้าใบอย่างใกล้ชิด ปรับอุณหภูมิในบ่อให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของมาเรียม แต่ค่ำวันนั้นเอง มาเรียมก็เกิดอาการช็อก ทีมสัตวแพทย์พยายามช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ มาเรียมตายในค่ำวันนั้นเอง

ผลการผ่าพิสูจน์มาเรียม พบสาเหตุการตายมาจากการช็อก พบเศษพลาสติกเล็กๆหลายชิ้นขวางลำไส้ จนอุดตันและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสม อยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง บทสรุปคือมาเรียม ตายเพราะความมักง่ายของมนุษย์ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล โดยไม่มีจิตสำนักรับผิดชอบ

ขยะพลาสติกเป็นจุดจบชีวิตของสัตว์ทะเลจำนวนมาก คนไทยทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ขยะในทะเลนำมาสู่ความตายของเต่าทะเล โลมา วาฬ และครั้งนี้เจ้าพะยูนน้อย ปัญหาขยะทะเล จึงเป็นปัญหาระดับชาติ ที่อย่างน้อยความตายของมาเรียม ควรเป็นจุดกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของมนุษย์ และการใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อจัดการกับมนุษย์ที่ไร้ความรับผิดชอบเหล่านี้
            

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1243 วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์