วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วังวนกิ่วลม จอกหูหนูบานสะพรั่ง ตักเท่าไรก็ไม่หมด อัดแน่นเต็มหน้าเขื่อน

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์


ในปี 2563 จอกหูหนูยังคงเป็นปัญหาโดยเคลื่อนพลยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมอีกครั้ง  ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยครั้งนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้ทุ่มงบประมาณในการแก้ไขปัญหากว่า 5 ล้านบาท ด้วยการขอสนับสนุนเรือขุดและเรือกำจัดวัชพืช จากพิษณุโลก เข้ามาดำเนินการ พร้อมกับนำรถแบ็คโฮเข้ามาช่วยตักจอกนำมากองไว้เพื่อให้สะเด็ดน้ำ และนำไปทำปุ๋ยแจกจ่ายให้กับเกษตรกร โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย  จนสถานการณ์คลี่คลายลงไป เปิดน่านน้ำหน้าเขื่อนกิ่วลมให้กลับมาล่องแพได้อีกครั้ง ช่วงเดือนธันวาคม 2557  แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงเหลือจอกหูหนูที่ถูกจำกัดพื้นที่อยู่ส่วนหนึ่ง และยังมีจอกที่ซุกซ่อนตัวอยู่  ซึ่งไม่เคยหายไปจากอ่างเก็บน้ำกิ่วลม จนทำให้จอกหูหนูได้กระจายตัวอีกครั้ง และปัจจุบันก็ได้แพร่กระจายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม ซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้
           

ผู้ประกอบการแพ รายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้จอกหูหนูได้อัดแน่นตั้งแต่หน้าเขื่อนมาจนถึงเกาะวังแก้ว ทำให้แพไม่สามารถแหวกผ่านไปได้ จะวิ่งได้เพียงครึ่งทางจากท่าสำเภาทองไปถึงเกาะวังแก้วเท่านั้น เรือหางยาวก็ผ่านไม่ได้ นักท่องเที่ยวจึงต้องมาใช้บริการทางฝั่งสำเภาทองแทน ทำให้ผู้ประกอบการแพที่อยู่หน้าเขื่อนประสบปัญหาขาดรายได้อย่างมาก  ถึงแม้ว่าทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา จะนำเรือกำจัดวัชพืชและรถแม็คโครมาตักจอกออกไป แต่ก็ไม่มีท่าทีลดลง  ซึ่งเข้าใจว่าจะให้ทำแบบทันใจคงไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป หลังเดือนเมษายนนี้จะเสร็จหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ หากไม่เสร็จคงกระทบช่วงท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์มาก  ปัญหานี้เกิดมาต่อเนื่อง 4-5 ปีแล้ว  โดยเฉพาะช่วงน้ำหลากจอกจะทะลักลงมา  แต่ก็ยังดีกว่าปีก่อนๆที่เต็มพื้นที่ทั้งหมด  ถือว่ายังโชคดีที่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้อยู่  


           
เส้นทางจอกหูหนู

            -เดือนธันวาคม 2556 ลานนาโพสต์ลงพื้นที่เขื่อนกิ่วลม พบจอกหูหนูกระจายแน่นเต็มพื้นที่อ่างเก็บน้ำ
            -เดือนมกราคม 2557 จอกหูหนูกระจายครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่
            -เดือนมีนาคม 2557 จอกหูหนูกระจายอย่างรวดเร็ว 1,500 ในระยะเวลา 2 เดือน  เขื่อนกิ่วลมเปิดประตูระบายน้ำ ดันจอกออกสู่แม่น้ำวัง
            - เดือนเมษายน 2557 โครงการกิ่วลมฯ นำเรือกำจัดวัชพืชเข้าทำงาน  จอกหน้าเขื่อนถูกตักออก ขณะที่มีจอกอีกส่วนไปกระจุกตัวที่ท่าสำเภาทองแทน
            -เดือนกันยายน 2557 จอกกลับมาแน่นหน้าเขื่อนอีกครั้ง เต็มพื้นที่ 1,500 ไร่  โครงการกิ่วลมฯ
กำจัดต่อเนื่อง
            -เดือนตุลาคม 2557  จังหวัดลำปางจัดโครงการเขื่อนสวยน้ำใส ระดมพลตักจอก
            -เดือนธันวาคม 2557  เปิดทางล่องแพหน้าเขื่อนกิ่วลมได้   เกษตรจังหวัดแปรรูปจอกเป็นปุ๋ยแจกจ่ายชาวบ้าน
            -เดือนมกราคม 2558  จอกกลับมาอัดแน่นในห้วยป๋อ เส้นทางน้ำจาก ต.บ้านสา โครงการฯกิ่วลมหยุดกำจัดจอก เพราะงบประมาณหมด  ด้านนายอำเภอร่วมกับชาวแพทดลองฉีดสารเคมีกำจัดจอก แต่ไม่เป็นผล
            -เดือนพฤษภาคม 2558  โครงการกิ่วลมฯ ได้งบเพิ่มอีก 3 ล้านบาทเศษ ลุยกำจัดจอกต่อ แม้จอกหูหนูจะเบาบางไปบ้าง แต่ทำไปจนแล้วจนรอด จอกหูหนูก็ไม่เคยหมดไป
            -ปี 2559-2560 เรื่องราวของจอกหูหนูเงียบหายไป  ด้วยสภาพความแห้งแล้ง ทำให้น้ำลดลง และจอกบางส่วนได้แห้งตายไป
            -เดือนพฤศจิกายน 2561 จอกหูหนูกลับมาเยือนอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมอีกครั้ง และได้แพร่กระจายเต็มผืนน้ำกลายเป็นสนามจอกหูหนูดังเดิม
            -เดือนตุลาคม 2562  โครงการกิ่วลมฯ ขอเรือกำจัดวัชพืช และรถแบคโฮ เข้ามาตักทำลายจอก 
            -เดือนมกราคม 2563 จอกหูหนูยังคงเติบโตบานสะพรั่งอยู่เต็มเขื่อนกิ่วลม ไม่มีท่าทีว่าจะเบาบางลงไป ถึงแม้จะมีบางช่วงที่น้ำลดลงจอกจะแห้งตาย แต่อย่างไรก็ตามจอกหูหนูก็ไม่เคยหายไป

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์