วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

มหันตภัยเงียบ ! จอกหูหนูยึดกิ่วลม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

คนต่างถิ่น รู้จัก “เขื่อนกิ่วลม” ผ่านเรื่องสั้นชุด “ชาวเขื่อน” ด้วย “มนันยา” ผู้เขียน ได้ติดตามสามีของเธอที่ไปควบคุมงานก่อสร้างที่นั่น ในช่วงชีวิตที่นั่น เธอได้พบกับเรื่องราวของชาวบ้าน คนงาน รวมทั้งพวกช่าง เป็นเรื่องราวชีวิตที่เขียนด้วยสำนวนเพรียวลม รุ่มรวยด้วยอารมณ์ขัน

แต่หาก “มนันยา” ย้อนกลับมา เขื่อนกิ่วลม ในพ.ศ.นี้ เธอคงขันใม่ออก เพราะ จอกหูหนู กลับมายึดครองผืนน้ำเกือบทุกตารางนิ้วของเขื่อน ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หลังจากปรากฎการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างน้อย 7 ปีที่ผ่านมา

7 ปีก่อน ปรากฎการณ์จอกหูหนูยึดเขื่อนกิ่วลม เป็นรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม ที่ “ลานนาโพสต์” ได้จุดประเด็นให้คนลำปาง สังคมต่างถิ่น สื่อระดับชาติ ให้ความสนใจและรายงานข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

ในปีนั้น ข่าวจอกหูหนูยึดเขื่อนกิ่วลม เป็นข่าวที่ “ลานนาโพสต์” ได้รับรางวัล ข่าวสิ่งแวดล้อมของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเป็นรางวัลแรก ที่นำร่องให้ลานนาโพสต์ได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องมาอีกหลายปี

ผลของการรายงานข่าวนี้ ทำให้หน่วยงานต่างๆตื่นตัว ระดมกำลังกันมาช่วยจัดการจอกหูหนู คืนผืนน้ำใสที่เคยหนาแน่นใบด้วยพืชน้ำใบเขียว ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของเฟินกลับมาอีกครั้ง แต่ไม่นานจากนั้น จอกหูหนูซึ่งแพร่พันธ์ได้อย่างรวดเร็ว ก็เอาชนะมนุษย์ได้

จอกเป็นวัชพืชน้ำ ที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว มันปิดบังแสงที่ส่องลงท้องน้ำ ทำให้พืชน้ำ สาหร่าย แพลงก์ตอนพืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ อุณหภูมิน้ำที่ลดลง เพราะแสงส่องไม่ถึง ปลาก็ไม่วางไข่ เกิดน้ำเน่าเสีย และเป็นตัวกีดขวางการเดินเรือ

โทษใครไม่ได้เต็มคำ อาจเพราะการเปลี่ยนแปลง โยกย้าย ผู้รับผิดชอบ อีกทั้งนโยบายที่ไม่แน่นอน การแก้ปัญหาจึงคล้ายไฟไหม้ฟาง คนเปลี่ยนไป นโยบายไม่ชัด ขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หากเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่หาอยู่ หากินที่เขื่อนกิ่วลม ก็ควรกำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัด วางระบบ การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และอาจมองวิกฤติเป็นโอกาสได้ เช่นการใช้ประโยชน์จากจอกหูหนู เมื่อนำขึ้นมาจากน้ำ

ในบางประเทศ ใช้จอกหูหนูเป็นยาสมุนไพร ทั้งต้นและใบใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นอาหารสด สำหรับสัตว์เช่น เป็ดและหมู ใช้บำบัดน้ำเสีย หรือหมักทำปุ๋ยใช้ในแปลงเกษตร โดยหมักรวมกับพืชน้ำชนิดอื่น หรือหมักร่วมกับปุ๋ยคอก ที่สวนจตุจักร กรุงเทพ ยังมีราคาใช้เป็นพืชลอยน้ำในตู้หรืออ่างปลาได้

ข้อดีของจอกหูหนู เช่นนี้อาจต้องมีวิธีบริหาร จัดการ เท่ากับยิงทีเดียวได้นกสองตัว คือได้กำจัดจอกหูหนู และได้ใช้ในการสร้างรายได้ด้วย

จะเฝ้าดูหายนะที่อยู่ตรงหน้า แล้วค่อยแก้ปัญหากันแบบไฟไหม้ฟางเช่นที่ผ่านมา หรือจะแปรวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาส และเป็นโอกาสที่ยั่งยืนต่อไป



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์