วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

ระดมทุกภาคส่วนแก้จอก ลุยเคลียร์หน้าเขื่อน 1 กิโลเมตรแรก เสร็จก่อนสงกรานต์ ส่วนที่เหลือทั้งหมดตั้งเป้าเสร็จภายในปี 63 รองผู้ว่าฯย้ำต้องตักไม่ให้เหลือแม้แต่ดอกเดียว


จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 63 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานประชุมบูรณาการแก้ไขปัญหาและกำจัดวัชพืชในเขื่อนกิ่วลม  ร่วมกับนายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ สุพรรณคง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมงจังหวัดลำปาง ชมรมชาวแพ  อปท.ใกล้เคียง  ป่าไม้ ภาคเอกชน ฯลฯ

          
นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กล่าวว่า  จอกหูหนูได้กระจายกินพื้นที่ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมรวมระยะทางประมาณ 18 ไร่ โดยแบ่งเป็น 3 โซน คือ โซนต้นน้ำ บริเวณช่วงท่าสำเภาทอง ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม ถึงถ้ำสมบัติ ช่วงระยะ 4 กิโลเมตร  โซนกลางน้ำ บริเวณถ้ำสมบัติถึงห้วยฮาว ระยะทาง 12 กิโลเมตร  ปัจจุบันได้มีการทำทุ่นเชือกไม้ไผ่ผูกติดโอบล้อมจอกหูหนูไว้ และทยอยทำการจัดเก็บร่วมกับวิสาหกิจชุมชนชาวแพเขื่อนกิ่วลม-สำเภาทอง และโซนปลายน้ำ  เป็นช่วงบริเวณหน้าเขื่อนไปจนถึงลำห้วยฮาว ระยะ 2 กิโลเมตร   จากพื้นที่ผิวน้ำเหนือเขื่อนประมาณ 10,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่เกิดวัชพืชประมาณ 2,000 ไร่ น้ำหนักวัชพืชสด 80 ตันต่อไร่ จึงคิดเป็นน้ำหนักทั้งหมด 160,000 ตัน


          
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางกรมชลประทานได้สนับสนุนขอเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการแต่เนื่องจากจอกมีปริมาณมาก รวมไปถึงงบประมาณจำกัดจึงได้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนการวางแผนการดำเนินการร่วมกัน โดยจะต้องทำการตักจอกหูหนูออกให้หมด เพราะจอกหูหนู 1 ดอก สามารถแพร่กระจายเพิ่มเติมได้เต็มพื้นที่ 6 หมื่นไร่ได้ในระยะเวลา 6 เดือน ถ้าตักออกไม่หมดก็จะกลับมาเต็มพื้นน้ำเหมือนเดิม  งบประมาณที่นำมาใช้ก็จะเปล่าประโยชน์ และจากปัญหาพบว่า อุปกรณ์เชือกและไม้ไผ่ที่ใช้กั้นบริเวณจอกนั้นไม่แข็งแรงมากนัก เมื่อเจอลมแรงก็จะทำให้เชือกขาด จึงต้องหาทุ่นที่มีความคงทนถาวรมากักบริเวณจอกหูหนูไว้ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ซึ่งในส่วนนี้ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด จะช่วยเหลือดูแลในส่วนของงบประมาณว่าจะสามารถนำงบส่วนใดมาใช้ได้   โดยในการแก้ปัญหาในระยะแรกนี้ จะได้มีการตักจอกหูหนูในช่วง 1 กิโลเมตรแรกที่อยู่หน้าเขื่อนออกให้หมด  ส่วนแพท่องเที่ยวจะให้จอดที่ท่าโรงสูบน้ำของ กฟผ.ไปก่อนในช่วงที่มีการแก้ไขปัญหาหน้าเขื่อน  ซึ่งทางผู้ประกอบการแพได้ขอวัสดุอุปกรณ์เพื่อช่วยกั้นพื้นที่จอกหูหนู ได้แพสามารถวิ่งออกให้บริการได้ควบคู่กันไป


          
               นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวสรุปถึงการแก้ปัญหาว่า จังหวัดลำปาง บูรณนาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าหน่วยงานกรมชลประทาน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ วิสาหกิจชุมชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอแจ้ห่ม เพื่อที่จะแก้ปัญหาวัชพืชน้ำเหนือเขื่อนกิ่วลม ในทุกประเด็นทุกมิติ  สรุปได้ว่าจะมีมาตรการ 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 คือ ระยะเร่งด่วนเริ่มตั้งแต่วันนี้ไปถึง 5 เม.ย.63 จะทำการนำวัชพืชน้ำที่อยู่เหนือเขื่อน ในระยะ 1 กิโลเมตรแรก ขึ้นจากน้ำให้หมดในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้น้ำหน้าเขื่อนใสให้ได้  ระยะที่ 2 คือ หลังจากเคลียร์ช่วงหน้าเขื่อนเสร็จแล้ว จะมีการดำเนินการต่อในกิโลเมตรที่ 2 คือช่วงตั้งแต่โรงสูบน้ำของ กฟผ. ยาวไปจนถึงท่าแพสำเภาทอง เราจะวางแผนเพื่อปฏิบัติการเอาวัชพืชน้ำกิโลเมตรที่ 2 ถึงกิโลเมตรที่ 18 ออกให้หมด ภายใน 6 เดือน ไปจนถึงเดือน ก.ย.63  โดยจะมาประชุมเวิร์กชอปเป็นระยะ  เพื่อที่จะมอบภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายภาระความรับผิดชอบให้แก่ละพื้นที่ โดยจะต้องบล็อกพืชน้ำที่อยู่ตามซอกตามมุมของลำน้ำ เหนือเขื่อนให้ได้ก่อนและก็จะกำจัดทีละล็อคจนกว่าจะหมดไปจากลำน้ำ ซึ่งจะต้องมีการจัดหางบประมาณมากพอสมควร ระยะที่ 3 คือการแก้ปัญหาในระยะยาว จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเฝ้าระวังและช่วยกันดูแล เพื่อพิจารณาหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนต่อไป
                    สำหรับวัชพืชจอกหูหนู ได้แพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตในเขื่อนกิ่วลมจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา และเพิ่มปริมาณหนาแน่นมากในช่วงฤดูน้ำหลาก เดือนกันยายน-ตุลาคม ของทุกปี ประกอบกับสภาพอากาศของจังหวัดลำปางเอื้ออำนวยให้วัชพืชแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ คุณภาพน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภค และเป็นอุปสรรคในการสัญจรทางน้ำ ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้ทำการเฝ้าระวังและกำจัดวัชพืชจอกหูหนูมาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถกำจัดวัชพืชจอกหูหนูได้หมด อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณหนาแน่นมากขึ้น
ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนชาวแพเขื่อนกิ่วลม-สำเภาทอง ดำเนินการทำทุ่นเชือกและไม้ไผ่ผูกติดกันโอบล้อมวัชพืชจอกหูหนูเอาไว้ตามซอกลำห้วยต่าง ๆ โดยช่วยกันทยอยเก็บและกำจัดมาโดยตลอด แต่ก็ตักออกไม่หมดสาเหตุเกิดจากวัชพืชได้ไหลหลุดมาจากบริเวณที่ได้โอบล้อมไว้กระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์