วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ตลาดเกษตรกรลำปาง จุดเริ่มต้นของคนรักสุขภาพ ย้ำความมั่นใจ ผักปลอดภัยไร้สารพิษ


ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร หรือ ตลาดเกษตรกร จ.ลำปาง ได้ก่อตัวขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นแหล่งจำหน่ายหลักของสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐานในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมทั้งเพื่อพัฒนาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ให้มีศักยภาพในด้านการผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การตลาด เพื่อพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการด้านการเกษตร อีกทั้งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐานของจังหวัดลำปาง สร้างเครือข่ายการผลิตและเชื่อมโยงการตลาดสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐานของจังหวัดลำปาง ภายใต้สโลแกน “เกษตรสุขภาพ เกษตรคุณภาพ เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย”  มีการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร มีคณะกรรมการ คณะทำงาน ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง

 

ซึ่งได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจากกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 13 ล้านบาทเศษ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562  เปิดจำหน่ายทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่ วันที่ 30 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา  เวลา 06.00 น. – 14.00 น. ซึ่งมีการเปิดตลาดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 62  โดยมีว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน

 

จุดเด่นของตลาดแห่งนี้ เป็นตลาดเกษตรที่จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่มีสารพิษตกค้าง อาทิ มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย มาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ และ PGS ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น อย. มผช. HACCP เป็นต้น ส่วนอาหารปรุงสุกต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลอาหาร

 

สมศิลป์ ลาวพันธ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง  กล่าวถึงการเริ่มต้นของตลาดเกษตรกรจังหวัดลำปางว่า การทำเกษตรในปัจจุบัน  นอกจากเกษตรจะมีความรู้ในด้านการผลิตสินค้าแล้ว  ยังต้องมีความรู้ด้านการตลาดร่วมด้วย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีข้อด้อยเรื่องด้านการตลาดซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีรายได้เพิ่ม  นอกจากนี้ปัญหาส่วนใหญ่ยังมีเรื่องผลผลิตล้นตลาดและตกต่ำ ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้  จึงเป็นที่มาของนโยบายการจัดหาสถานที่ค้าขาย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  คือ จัดหาส่งเสริมให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอมีสถานที่จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ในพื้นที่เหมาะสม  รองรับผลผลิตด้านการเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่าย รวมทั้งรองรับสินค้าจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร  สินค้าจากเกษตรแปลงใหญ่

 

นายสมศิลป์ ยังได้กล่าวต่อว่า การดำเนินงานได้เริ่มในปี 2558 ให้ทุกอำเภอมีสถานที่จำหน่ายสินค้าในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดริมทาง หรือร่วมกับตลาดท้องถิ่น แต่ก็ยังประสบปัญหาแหล่งจำหน่ายที่ไม่แน่นอน จึงเป็นที่มาของตลาดถาวร  ต่อมาในปี 2561  จ.ลำปาง ได้รับงบประมาณนำร่อง เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร หรือตลาดเกษตรกรแห่งนี้ เป็น 1 ใน 7 จังหวัดนำร่องของประเทศ ร่วมกับ เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ  ราชบุรี กาญจนบุรี และกระบี่  เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการตลาด แหล่งจำหน่ายสินค้าหลักของเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานของเกษตรกรใน จ.ลำปาง  เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพด้านการผลิต แปรรูป บรรจุภัณฑ์ การตลาด ยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการตลาด อีกทั้งเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการการส่งเสริม ไมว่าจะเป็น ม.ราชภัฎลำปาง  ม.ราชมงคลฯ   ม.ธรรมศาสตร์  รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆเข้ามาส่งเสริมผู้ผลิต  ประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีคุณภาพ  สร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด  เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน

 

“ความเปลี่ยนแปลงใน 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดตลาด กลุ่มเกษตรกรได้ยอมรับและเคารพกฎกติกา โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ขาย ไม่มีหลักการตลาด ไม่ชอบกฎเกณฑ์ แต่เขาได้มีการปรับตัว เพื่อต้องการสร้างสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด จึงอยากฝากถึงเกษตรกรว่าในฐานะที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิต  การที่จะสร้างรายได้สร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง ให้มีความยั่งยืนต่อเนื่อง คุณภาพสินค้าต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะประชาชนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ต้องเน้นคุณภาพตั้งแต่การผลิต มีการวางแผนการผลิต จะผลิตสินค้าอะไร มีตลาดตรงไหน แปรรูปอย่างไร ต้องคำนึงถึงหลักการตลาดร่วมด้วย”

 

ด้านนายณัฐวุฒิ แก้วอ่อน ประธานผู้ค้าตลาดเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวถึงการคัดเลือกผู้เข้ามาค้าขายในตลาดว่า คนที่จะเข้ามาค้าขายต้องเป็นเกษตรกรจริง ไม่ใช้ผู้ประกอบการอื่น  ต้องยินดีที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อยกระดับตัวเองเข้าสู่มาตรฐาน แต่ละมาตรฐานที่ตัวเองอยากจะเป็น เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย  หรือด้านอาหารปรุงสุก จะต้องมีวัตถุดิบที่มาจากแหล่งเชื่อถือได้ และต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลด้านอาหาร

 

ปัจจุบันเรามีผู้ขายมาจากทั้ง 13 อำเภอของ จ.ลำปาง มีทั้งพืชผัก ผลไม้ และประมง โดยจะมีเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรตัวจริง ซึ่งต้องยอมรับเงื่อนไขและกฎระเบียบของตลาดได้  สินค้าจะต้องมีมาตรฐาน  ในปีแรกต้องรับรองตัวเองโดยลงแปลงร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.ราชภัฎลำปาง โดยมี 2 รูปแบบคือ เกษตรปลอดภัย หมายถึง ยังคงใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง แต่อยู่ที่ระยะของการเก็บเกี่ยว  กรมวิชาการจะเป็นผู้รับรอง จากนั้นจะส่งให้ทาง ม.ราชภัฎลำปาง ตรวจว่าพบสารเคมีตกค้างหรือไม่ ถ้าพบก็จะมีมาตรการออกจากตลาด และ เกษตรอินทรีย์ คือ การงดใช้สารเคมีทั้งหมด 

 

ดังนั้น ผู้บริโภคที่มาซื้อของในตลาดแห่งนี้  รับประกันได้ว่าปลอดภัยแน่นอน เรามีกรรมการลงพื้นที่ตรวจแปลงโดยเห็นถึงกระบวนการผลิตชัดเจน ซึ่งมีการตรวจปีละ 3 ครั้ง ใช้กระบวนการเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ สามารถลงไปดูแปลงที่เกษตรกรผลิตได้เลย  และราคาไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ผักจะราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับตลาดทั่วไป

 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า  ที่ตลาดแห่งนี้เราดูแลกันแบบพี่น้อง เอื้อเฟื้อกันและกัน การวางแผนการผลิต เราเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดการพัฒนา การลงทุนพัฒนาทุกครั้งจะมีพันธะสัญญาว่าในตลาดจะมีสินค้าเหมือนกันไม่เกิน 2 ราย  เพื่อดูแลผู้ประกอบการได้ทั่วถึง  จะไม่เพิ่มเกษตรกรขึ้นจากเดิม แต่ถ้าเมื่อไรที่บริการลูกค้าไม่เพียงพอ จึงจะนำเกษตรกรเพิ่มเข้ามา

 

“ตอนนี้กำลังการผลิตในตลาดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค  เพราะเกษตรปลอดภัยมีกระบวนการต้องใช้เวลา ซึ่งทางตลาดไม่มีนโยบายจะรับสินค้านอกเข้ามาขาย เพราะฉะนั้นสินค้าก็จะยังได้คุณภาพ  ถ้าการผลิตมากพอจนสินค้าล้นตลาด เรามีแผนจะส่งโรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีการบูรณาการร่วมกันกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ เราต้องค่อยๆก้าว เพราะมาตรฐานสำคัญ คือหัวใจของตลาด  สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจังหวัดลำปาง”  นายณัฐวุฒิ กล่าว

 

ขณะที่  ผศ.ดร.นันทินา ดำรงวัฒนกูล คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร ม.ราชภัฎลำปาง  ซึ่งถือว่าเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า  ถ้าย้อนกลับไปจะพบว่าปริมาณผักที่บริโภคใน จ.ลำปาง จะมีการนำเข้ามาจากต่างจังหวัด ผักเหล่านั้นไม่ได้ปราศจากสารเคมี คณะเทคโนลีการเกษตร ม.ราชภัฎลำปาง  อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันเกษตรกรในการผลิตผักให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของ “โครงการเซฟฟอร์ชัวร์” (Safe for Sure) มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการวิจัย การพัฒนาโซ่อุปทานอาหารท้องถิ่นปลอดภัย ของ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยมีกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ จำนวน 3 กลุ่ม ที่อยากหามาตรฐานในการรับรอง ซึ่งในตอนนั้นเกษตรกรใช้มาตรฐาน GPS ในการตรวจสอบกันเองในกลุ่ม  จึงต้องการหาความชัดเจนทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ว่าผลผลิตของเกษตรกรมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ หลังจากใช้กระบวนการ GPS ตรวจสอบกันเอง  จึงได้ใช้ Test Kit  เข้ามาตรวจ  โดยขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 2 หลังจากรับรองมาตรฐานกลุ่มแล้ว มีกลุ่มกรีนมาร์เก็ตเริ่มสนใจ ได้มีการขยายกลุ่มเกษตรกรที่สนใจให้เราเข้าไปร่วมตรวจสอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 15 กลุ่ม ส่วนใหญ่จะขายในตลาดเกษตรกรอยู่แล้ว ในกลุ่มนั้นได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัด จึงเห็นว่าตลาดนั้นควรจะมีการเซฟทั้งตลาด เลยขยายกลุ่มเน้นไปที่ตลาดเกษตรกรเป็นหลักในปีที่ 3 จึงเข้าสู่เซฟฟอร์ชัวร์อย่างเต็มรูปแบบ  โดยใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นประมาณ 2 ปีเศษ

 

ผศ.ดร.นันทินา กล่าวว่า  ในความน่าเชื่อถือเรื่องกระบวนการตรวจสอบ เราพยายามให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ว่าเราใช้วิธีการแบบไหน มีขั้นตอนอย่างไร  โดยการพยายามสร้างอาสาสมัครอาหารปลอดภัย หรือ อสป.ให้อยู่ในชุมชน  ให้คนที่ตรวจสอบได้ต้องมีทั้งคนในกลุ่มและนอกกลุ่ม เพื่อความถูกต้องโดยไม่มีความลำเอียง  จึงมี อสป.ขึ้น 10 คน  ได้รับการเรียนรู้ฝึกฝนในเรื่องของเทคนิคการตรวจ การเก็บตัวอย่าง อย่างเต็มรูปแบบ  รวมทั้งเรียนรู้การเก็บตัวอย่างดิน คุณภาพดิน การผลิตสารชีวภัณฑ์ต่างๆ  เพื่อให้ อสป.เหล่านี้ขยายองค์ความรู้ต่อ  เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นเทรนที่ใหม่ อาจารย์คณะเกษตรฯมีจำนวนไม่เพียงพอ  จึงต้องสร้างกลุ่ม อสป.ขึ้นมาเรียนรู้กับเราโดยตรง  เป็นการรีเช็คซึ่งกันและกันในผลการทดสอบนั้น

 

“การได้รับประทานอาหารปลอดภัย สุขภาพจะแข็งแรง ลดภาระเรื่องคารักษาพยาบาลให้กับประเทศชาติได้ หากเราทำได้ก็จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสุขภาวะของประชาชนชาวลำปางได้เป็นอย่างดี  เราเป็นต้นทางเป็นผู้ดูแลผู้ผลิต ถ้าผู้ผลิตมีสุขภาพจิต สามัญสำนึกที่ดี พร้อมมีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน ก็ย่อมมีกำลังใจที่ดีในการผลิตอาหารปลอดภัยออกสู่ตลาด เชื่อว่าต้องเป็นการทำงานแบบบูรณาการในหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำเร็จอยู่กับประชาชนตลอดไป” คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าว.


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์