วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'สุทธิชัย หยุ่น' ชี้ทิศทางหนังสือพิมพ์ไทยในยุคดิจิทัล


'สุทธิชัย หยุ่น' ชี้ทิศทางหนังสือพิมพ์ไทยในยุคดิจิทัล จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติทำสื่อให้หลายด้าน เน้นการรักษาแบรนด์เดิม และสร้างความน่าเชื่อถือใหม่

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 ส.ค.2556 ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ อ.เมือง จ.ลำปาง นายสุทธิชัย  หยุ่น ประธานเครือเนชั่น กรุ๊ป  บรรยายพิเศษหัวข้อ "ทิศทางของหนังสือพิมพ์ไทยในยุคดิจิทัล" ใหักับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง ว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ไม่เคยมีใครทำนายได้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะพบเจออะไรบ้าง  ดังนั้นเราจึงกระโดดจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อดิจิทัลทันที   ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล เปรียบเสมือนกับภาพยนตร์ เรื่อง perfect storm ที่เทคโนโลยี จะค่อยๆพัดเป็นคลื่นเข้ามากระทบกับสังคมและไม่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในอนาคต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสื่อที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ คือสื่อเพลง ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นยุคแรกๆ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่วงการสื่อสิ่งพิมพ์  ซึ่งทุกสื่อจะต้องมีการปรับตัว แบบค่อยๆดำเนินการและใช้ประโยชน์จากสื่อทุกรูปแบบให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการยอมรับการเปลี่ยนแปลง

จากที่เมื่อ 8 ปีก่อนเริ่มมีทวิตเตอร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการเขียนข้อความสั้นๆ และโพสต์ลงอินเตอร์เน็ตสามารถส่งข้อความไปถึงคนทั่วโลก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เมื่อเห็นการส่งข่าวต่างๆได้ในเวลาเพียง 1 วินาที ทำให้หันกลับมามองว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้อย่างไร เพราะกว่าข่าวจะตีพิมพ์ออกมาต้องใช้เวลาถึง 18-24 ชั่วโมง ต่อมาก็มีการถ่ายภาพโดยไม่ต้องใช้ฟิล์ม โดยในครั้งแรกช่างภาพมืออาชีพหลายคนยังบอกว่าเป็นไปไม่ได้ การถ่ายภาพโดยไม่ใช้ฟิล์มไม่มีความละเอียดซึ่งใช้กับภาพข่าวหนังสือพิมพ์ไม่ได้  จากนั้นอีก 2 ปี พบว่ากล้องพัฒนาออกมาให้สามารถถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์ได้  จึงค่อยๆลดการใช้ฟิล์มลง จนกระทั่งนักข่าว ช่างภาพ ปรับเปลี่ยนเป็นกล้องดิจิทัลทั้งหมด โดยพลิกจากการทำงานแบบเดิม วิวัฒนาการมาเป็นยุคใหม่ภายใน 5-6 ปี เพราะเขาทราบว่าหากยังคงยึดติดกับสิ่งเดิมก็จะไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นการปรับตัวต้องปรับ 360 องศา   รวมถึงพนักงานเองก็จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตนเองเข้าสู่โลกดิจิทัล ด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่มีการทำงานในด้านเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจะต้องทำได้ในหลายหน้าที่ ทั้งเรื่องของการตัดต่อ การเขียน หรือการถ่ายภาพ โดยอาศัยการใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือ  นี่คือสิ่งที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้นอย่าวิตกกังวล แต่ควรนำไปคิดและค้นว่าจะใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างไรให้เป็นประโยชน์

นายสิทธิชัย  กล่าวอีกว่า  สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ในอนาคตจะต้องมีการปรับตัวเองให้มาก โดยจะต้องมีการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีให้มากขึ้นทั้ง สื่อทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก หรือยูทูป ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า แต่ยังจะต้องยังคงรักษาฐานเดิมของตนเองไว้ เนื่องจากประชาชนยังคงติดในแบรนด์ของสื่อนั้นๆ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการปรับตามโลกของเทคโนโลยี   และว่าการขยายฐานธุรกิจของหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ จากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อกระจายเสียงเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับที่เนชั่นได้ทำมาแล้ว

สื่อหนังสือพิมพ์ในอนาคตจะต้องมีการอาศัยแบรนด์ของตัวเองเป็นฐานหลักในการสร้างความเชื่อถือให้กับประชาชน ควบคู่กับการสร้างผู้ติดต่อผ่านทางสื่อดิจิทัล ทั้งเฟคบุ๊ก ทวิสเตอร์ หรือยูทูป โดยการเสนอข่าวสารที่เป็นจริง และแบบตรงไปตรงมา จะส่งผลให้ข่าวสารจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และยังสามารถได้เครือข่ายผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอิทธิพลของสื่อยุคใหม่ และแนวโน้มในอนาคตการแข่งขันของสื่อหนังสือพิมพ์ยุคใหม่จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด รุนแรง และมีการแข่งขันกันในการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ได้ ทั้งในรูปแบบของการแชร์ข่าว

"การเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล เปรียบเสมือนการต้มกบที่หากมีการนำกบไปต้มในหม้อน้ำที่ค่อยปรับอุณหภูมิ กบก็จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ก่อนจะตายไป และกบก็จะไม่กระโดดออกจากหม้อ แต่หากมีการต้นน้ำเดือดๆ แล้วนำกบลงใส่หม้อกบก็จะกระโดดออก เปรียบเสมือนเทคโนโลยี ที่จะต้องค่อยๆดำเนินการปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับการเปลี่ยน และวันหนึ่งผู้รับข้อมูลก็จะได้รับประโยชน์มากกว่า" นายสุทธิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม สื่อหนังสือพิมพ์ในอนาคตเองจะต้องมีการปรับตัว ด้วยการทำสื่อที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงประชาชน โดยครอบคลุมการใช้สื่อสมัยใหม่ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเข้าถึงสื่อยุคใหม่ จะต้องมีการรักษาสภาพของสื่อพื้นฐานเดิม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไปสู่ยุคดิจิทัลได้ เพื่อต่อยอดให้กับผู้บริโภคใหม่ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์