วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อิ่มเอิบอารมณ์ศิลป์ ณ หอศิลป์ลำปาง


บ้านเรือนไทยทรงสวยหลังนี้ ตั้งอยู่ติดกับอาคารฟองหลีในย่านกาดกองต้า นอกจากเคยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา โดยกรรมาธิการสถาปนิกสยามล้านนาแล้ว นี่คือพื้นที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่จะบ่มเพาะความละมุนละไมให้เกิดขึ้นในจิตใจใครสักคน ในนาม หอศิลป์ลำปางสำหรับคนลำปางจะได้เข้ามาเสพงานศิลป์ด้วยนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนตลอดปี

ประวัติของเรือนไทยหลังนี้ เริ่มจากเมื่อครั้งที่จีนบุญ หรือบุญ บุญเจริญ หอบสัมภาระใส่เข่งไม้ไผ่ใบเล็กเดินทางรอนแรมมาลงหลักปักฐานย่านกาดกองต้าในยุคธุรกิจทำไม้เฟื่องฟู และได้สะสมทุนจนมั่งคั่งกระทั่งสามารถสร้างอาคารพาณิชย์ที่มีลวดลายฉลุสวยงามในปี พ.ศ. 2456 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารฟองหลี แล้วเปิดเป็นร้านขายของใช้หลายอย่าง ทั้งสินค้าของไทยและสินค้าจากจีน พม่า และทางยุโรป โดยเฉพาะจากอังกฤษ

จีนบุญแต่งงานกับนางหมู หญิงชาวพื้นถิ่นลำปาง มีลูกรวม 7 คน หนึ่งในทายาทของท่านได้สมรสกับขุนอุทานคดี ส่วนทายาทคนสุดท้อง คือ ทนายน้อม สุวสิน ต้นสกุลสุวสิน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง ต่อมาบุญมา ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน ได้รื้อถอนอาคารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2520 ด้วยเหตุที่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ก็ได้นำส่วนประดับของอาคารไม้เก่าทั้งหมดมาก่อสร้างใหม่เป็นเรือนไทยทรงล้านนาประยุกต์อย่างสวยงาม และต่อมาตกทอดมาถึงมูลนิธินิยม ปัทมะเสวี ซึ่งได้อนุรักษ์เชิงสงวนรักษาเรือนไทยหลังนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงรักษากลิ่นอายของความเก่าแก่และเปี่ยมเอกลักษณ์ไว้อย่างครบถ้วน จนกระทั่งเปิดเป็นหอศิลป์ลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ ด้านหลังยังมีศูนย์การเรียนรู้ปัทมะเสวีสำหรับเด็ก ๆ และครอบครัวอีกด้วย

ภายนอกที่มองเห็นเป็นเรือนไทยงามเด่น ก้าวผ่านไปด้านในจะพบว่า หอศิลป์ลำปางเปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สนใจงานศิลปะทุกสาขา โดยไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดคุณวุฒิใด ๆ เป็นสถานที่แสดงออกทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเชิงศิลป์สำหรับศิลปิน นักเรียน และนักศึกษา ได้มีพื้นที่แสดงผลงานที่ต้องการจะถ่ายทอดความรู้ความชำนาญไปยังผู้ที่สนใจ นำไปต่อยอดให้กว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญ ยังเป็นศูนย์รวมงานศิลปะชิ้นเยี่ยมของล้านนาที่หาโอกาสชมได้ไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ ผลงานศิลปะที่อยู่ในขอบข่ายของการนำเสนอ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม วาดเส้น ภาพถ่าย กราฟิกดีไซน์ ออกแบบผลิตภัณฑ์-อุตสาหกรรม ศิลปหัตถกรรม การแสดง ดนตรี การพูด การเขียน คหกรรม งานประดิษฐ์ต่าง ๆ หนังสั้น สื่อมัลติมีเดีย สื่อดิจิตัล งานศิลปะนิพนธ์ เป็นต้น

หอศิลป์ลำปางยังประกาศเจตนารมณ์ชัดแจ้งว่า จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อคนลำปางทุกรุ่นทุกวัยให้ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ ย้อนรอยศิลปกรรมในอดีต เชื่อมสู่ปัจจุบัน และทอดยาวไปสู่อนาคตอย่างมีความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรม รวมทั้งที่มาที่ไปของงานศิลปกรรม ซึ่งนับวันจะมีความหลากหลายมากขึ้น และเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างคนต่างยุคต่างสมัยให้มีความใกล้ชิดกัน

สำหรับในเดือนสิงหาคมนี้ หอศิลป์ลำปางกำลังจัดแสดงนิทรรศการ จากสายเปลไกว...โดยศิลปิน อ. สมพงษ์ ตันติกุลวรชัย นำเสนอบทบาทของแม่จากการตีความของศิลปิน จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม จนถึงวันที่ 1 กันยายนนี้ ต่อจากนั้น วันที่ 7-29 กันยายน พ.ศ. 2556 จะจัดแสดงนิทรรศการ ภาพถ่าย+ภาพฝันโดยคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หอศิลป์ลำปางเปิดให้ชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 13.00-18.00 นาฬิกา และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 13.00-21.00 นาฬิกา โดยไม่เสียค่าเข้าชม

  (คอลัมน์ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 942 วันที่ 13-19 กันยากัน 2556)        

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์