เมื่อวันที่
21 ส.ค.56 ที่โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง นพ.ประดิษฐ
สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
และคณะ ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สัญจร) ครั้งที่ 11/2556 เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
ผู้ป่วยหนักให้มีชีวิตรอดปลอดภัยมากที่สุด และตรวจเยี่ยมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลลำปางและหน่วยกู้ภัยท่าผา
อ.เกาะคา จ.ลำปาง
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพดี
ได้เร่งรัดพัฒนาให้สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรฐานการรักษา
เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพด้วยความเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
มีระบบการแพทย์ออกปฏิบัติการกู้ชีพถึงที่เกิดเหตุ เพื่อช่วยชีวิตให้รอดปลอดภัยและนำส่งรักษาในโรงพยาบาล
หรือในกรณีป่วยหนักเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล
จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า
และระบบส่งผู้ป่วยกลับไปสถานพยาบาลต้นทางเพื่อดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่อง
จากการประเมินผลระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2555 ทีมกู้ชีพออกปฏิบัติการ 1.2
ล้านกว่าครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ครั้ง
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการรับส่งต่อผู้ป่วยมีปัญหาหลายประการ
เช่น การสื่อสารทางโทรศัพท์ไม่สะดวก สายไม่ว่าง ไม่มีผู้รับสาย
ใบส่งต่อผู้ป่วยข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขาดผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผลเลือด
ฟิล์มเอกซเรย์หรือภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์ต้องแล็ปซ้ำใหม่
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้มีมาตรฐาน คล่องตัว
โดยที่โรงพยาบาลลำปาง
ได้พัฒนาโปรแกรมการส่งต่อผู้ป่วยที่เคยใช้ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จนประสบผลสำเร็จ
ใช้ได้ผลดี คือ “โปรแกรมไทยรีเฟอร์ (Thai Refer)” ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยของประเทศไทยโดยเฉพาะ
ขยายผลใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ กลาโหมและภาคเอกชนแล้ว 52 จังหวัด และขยายผลใช้ทั่วประเทศในปี 2556 นี้
เพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและเชื่อมงานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน
ผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนแบบไม่มีรอยต่ออีกต่อไป
ด้าน
นพ.ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน
ผอ.โรงพยาบาลลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลใช้โปรแกรมไทยรีเฟอร์
จำนวน 726 แห่ง ใน 52 จังหวัด จุดเด่นโปรแกรมไทยรีเฟอร์มี 3 ประการคือ ใช้งานได้ง่าย ลดการทำงานซ้ำซ้อน มีระบบเฝ้าระวัง
ระบบความปลอดภัยป้องกันความผิดพลาดตลอด 24 ชั่วโมง
เชื่อมต่อระหว่างห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต้นทาง-ปลายทาง โดยใช้ระบบการส่งต่อข้อมูล
ประวัติ ผลแล็ปต่าง ๆ เช่น เลือด เอ็กซเรย์
และภาพผู้ป่วยผ่านคอมพิวเตอร์ออนไลน์และระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ไอแพ็ด ข้อมูลประวัติการรักษาจากต้นทางและภาพผู้ป่วยจะปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลปลายทาง
และมีระบบดาวเทียมติดตามเช็คพิกัดรถพยาบาลนำส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตรียมพร้อมการรักษาและสามารถสั่งการรักษาเพิ่มเติมได้ทันที
ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รวดเร็ว ลดอัตราการเสียชีวิต
และลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนของโรงพยาบาล คือไม่ต้องตรวจแล็ปซ้ำอีก
และในอนาคตอาจจะมีการขยายไปในส่วนของเจ้าหน้าทีกู้ชีพ
หรือกู้ภัยของท้องถิ่นต่างๆ
แต่จะต้องมีงบประมาณในการติดตั้ง ในส่วนของซอฟแวร์ โรงพยาบาลมีให้ฟรี
แต่รถกู้ภัยจะต้องเตรียมอุปกรณ์ในส่วนนี้ เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณได้ ทางกู้ภัยก็คงต้องขอรับการสนับสนุนจากท้องถิ่นมาดำเนินการ
และที่สำคัญคือต้องมีระบบอินเตอร์เน็ตที่นำมาใช้เชื่อมต่อข้อมูลกัน ผอ.รพ.ลำปาง กล่าว