วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ปรับตัวรับแก๊สแพง ท.เขลางค์แปลงขยะทดแทน


เทศบาลเมืองเขลางค์นคร จัดโครงการแปลงขยะเป็นก๊าซชีวภาพ รับภาวะแก๊สขึ้นราคา นำร่องทดลองใช้ 7 ชุมชน ชูข้อดีเพียบลดปริมาณขยะและได้แก๊สหุงต้มใช้ฟรี  ตั้งเป้าขยายให้ครบทั้ง 63 ชุมชน

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการการะบวนการสร้างสรรค์พลังงานก๊าซชีวภาพอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ณ โรงเรียนชุมชนบ้านฟ่อนวิทยา ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จ.ลำปาง (สสส.) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 280,000 บาท เพื่อใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ  โดยมีทีมวิทยากรจากวิทยาลัยเทคโนโลยีลำปาง (แลมป์เทค) นำโดย อ.ชินโชติ  จรูญศักดิ์  มาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติ  พร้อมทั้งร่วมมือกันประกอบถังหมักขยะ  เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชน

นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร  กล่าวว่า โครงการนี้มีชุมชนและหน่วยงานทางการศึกษาในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร จำนวน 7 แห่งที่สนใจและมีทรัพยากรเพียงพอ ในการผลิตก๊าซชีวภาพเข้าร่วมผลิตในครั้งนี้ ได้แก่ โรงเรียนบ้านฟ่อนวิทยา ชุมชนบ้านต้า ชุมชนบ้านร้อง ชุมชนลำปางคูณ ชุมชนบ้านกล้วยกลาง ชุมชนบ้านกล้วยม่วง และชุมชนบ้านกาดใต้   โดยทางสสส. และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้ดำเนินการอบรมและจัดหาอุปกรณ์สำหรับกำจัดขยะอินทรีย์ ให้แก่ 7 ชุมชน นำร่องในเขตเทศบาล  เพื่อเป็นการที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้พลังงานทางเลือกจากธรรมชาติเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในครัวเรือน โดยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากขยะเปียกที่ทิ้งจากครัวเรือน และก๊าซชีวภาพที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ทดแทนแก๊สหุงต้มในครัวเรือนได้บางส่วน และในอนาคตทางเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ตั้งเป้าว่าจะกระจายความรู้ ขยายผลในกระบวนการการผลิตพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติไปสู่ชุมชนทั้ง 63 ชุมชนในเขตเทศบาลอีกด้วย

อ.ชินโชติ จรูญศักดิ์ หัวหน้าแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีลำปาง เจ้าของโครงการกระบวนการสร้างสรรค์พลังงานก๊าซชีวภาพอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยว่า จากปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากการเจริญเติบโตของเมือง ขยะที่ถูกทิ้งลงถังในครัวเรือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 2 กิโลกรัม ต่อวัน ส่วนมากยังไม่มีการคัดแยกที่ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะเปียกหรือเศษอาหารจากครัวเรือนเป็นปัญหาทำให้เกิดน้ำเน่าเสียและส่งเสริมกลิ่นรบกวน ปัญหานี้จึงถูกนำมาแก้ไข โดยได้นำเอาน้ำหมัก และมีขี้วัวเป็นหัวเชื้อหมักรวมกับเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้งจากในครัวเรือน มารวมกันในถังหมักก๊าซชีวภาพตามกระบวนการ จะได้ก๊าซที่สามารถนำมาใช้แทนก๊าซหุงต้ม หรือ ใช้แทนเชื้อเพลิงอื่นได้ดี

                                                                                                              (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 942 วันที่ 6-12 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์