วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

รวมพลฟื้นแม่น้ำวัง ทิ้งน้ำเสียเจอคุก


เทศบาลเอาจริง รุกรักษ์แม่น้ำวัง ดึงกฎหมายมาตรา 80 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ จี้องค์กรใหญ่รายงานระบบบำบัดน้ำเสีย  พร้อมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ จัดกิจกรรมต่อเนื่องพัฒนาฟื้นฟู สร้างอาสาสมัครรักษ์แม่วัง

สืบเนื่องจากปัญหาคุณภาพแม่น้ำวังที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากทุกภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น ชุมชน  สถานประกอบการ  โรงงานอุตสาหกรรม  โรงเรียน  หน่วยงาน ที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้ระบายน้ำเสียและความสกปรกลงสู่แม่น้ำวัง  ทำให้แม่น้ำเสื่อมโทรม  โดยเฉพาะจุดเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณฝายยาง  ซึ่งเป็นจุดเก็บตัวอย่างน้ำที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครลำปาง  มีค่าแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด  และกลุ่มฟิคัลโคลิฟอร์ม  เกินค่ามาตรฐาน  ทำให้คุณภาพน้ำจุดดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมต่อเนื่องกันมาหลายปี ทั้งนี้ลานนาโพสต์ได้รายงานข่าวนี้มาโดยตลอด จนกระทั้งมีการตื่นตัวของภาคส่วนที่เกียวข้องในจังหวัดลำปาง

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 56 นพ.สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง  เป็นประธานเปิดการอบรมเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำวัง บริเวณสวนสาธารณะฝายยาง เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์  ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง โดยมีวิทยากรจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 มาให้ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ และสาธิตการใช้ชุดทดสอบน้ำอย่างง่าย(เครื่องตรวจวัดออกซิเจนละลาย)ให้แก่ตัวแทนชุนชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำวัง จำนวน 17 ชุมชน

นพ.สุรทัศน์ พงษ์นิกร  กล่าวว่า  ในปี 2555 ที่ผ่านมา เทศบาลนครลำปางได้ร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง  ริเริ่มกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมานั้น   เป็นการจัดการอบรมให้กับประชาชนจากชุมชนนำร่อง 6 ชุมชนที่อยู่ติดลำน้ำวังฝั่งใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในช่วงกลางลำน้ำ  ชุมชนที่อยู่ในย่านเศรษฐกิจการค้า ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำวัง  เห็นสภาพของปัญหาและเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมมากกว่าชุมชนอื่น ได้แก่ ชุมชนบ้านหัวเวียง  ศรีเกิด  กาดกองต้าเหนือ  สิงห์ชัย  บ้านดงไชย และท่าคราวน้อย    ในการอบรมครั้งนี้จึงยังคงเน้นกระบวนการสร้างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา  โดยขยายเพิ่มขึ้นจาก 6 ชุมชน เป็น 17  ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำวัง  ชุมชนที่เพิ่มในปีนี้ ได้แก่ ชุมชนช่างแต้ม  พระแก้ว-หัวข่วง   ประตูต้นผึ้ง   ท่ามะโอ   แจ่งหัวริน   บ้านปงสนุก   เจริญประเทศ   ศรีบุญโยง   สามดวงสามัคคี   และชุมชนบ้านดงม่อนกระทิง เพื่อต้องการให้ชาวบ้านมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ  และสภาพคุณภาพน้ำแม่น้ำวังในปัจจุบัน  และมีส่วนร่วม โดยมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำวัง

รองนายกเทศมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นทางเทศบาลยังได้เรียกประชุมผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 100 แห่งเข้าร่วมรับฟังแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมายเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำวัง โดยจะนำกฎกระทรวงตามบทบัญญัติในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาบังคับใช้เด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาอาจจะปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ไป ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำวังและเกิดปัญหาน้ำเน่าขึ้น   สำหรับกฎกระทรวงฯนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบการตามมาตรา 80 ต้องเก็บสถิติและข้อมูลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวันเป็นเวลานานติดต่อกัน 2 ปี จัดทำบันทึกไว้และต้องรายงานผลให้กับเทศบาลทุกเดือน  ซึ่ง จ.ลำปางจะมีอาคารที่เข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงจำนวนกว่า 100 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อาคารชุด โรงพยาบาล โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา ศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า  ตลาด  ร้านอาหารฯลฯ  หากผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 80 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  และผู้ที่จัดทำบันทึกข้อความเป็นเท็จก็จะมีโทษเท่ากัน

ด้าน น.ส.ชาลินี วัฒนวรรณะ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า สำหรับการอบรมชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำวังเป็นการให้ความรู้ในการทดสอบแบบง่ายและการสังเกตลักษณะทางกายภาพของน้ำว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยกำหนดให้ตัวแทนชุมชนเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงและบันทึกเป็นรายงานไว้   นอกจากนี้ยังได้จัดแบบสำรวจในแต่ละชุมชนว่ามีสถานประกอบการอะไรบ้าง จากนั้นทางเทศบาลร่วมกับสิ่งแวดล้อมภาค 2 ก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆโดยการจัดทำ "โครงการเสริมสร้างอาสาสมัครรักษ์น้ำวังเพื่อจัดทำแผนพัฒนาแม่น้ำวังต่อไป 


ทั้งนี้ในวันที่ 9 ก.ย.56 เทศบาลนครลำปาง ได้จัดโครงการปรับปรุงและพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำวัง จังหวัดลำปางณ บริเวณแม่น้ำวัง หลังโรงงานซีอิ้ว เชิงสะพานบ้านดง เทศบาลนครลำปาง โดยร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์พัฒนาและบำรุงทางน้ำที่ 7 กรมเจ้าท่าและเทศบาลนครลำปาง  และ "โครงการเสริมสร้างอาสาสมัครรักษ์น้ำวัง" ประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาแม่น้ำวังด้วย   

                                                                                                            (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 942 วันที่ 6-12 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์