วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

ตะวันตก พม่า ล้านนา ความงามตาที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม


นอกเหนือจากวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ดูเหมือนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามจะเป็นวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองลำปางเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มากับบริษัททัวร์ ฝรั่งหลายคนต่างอมยิ้มเมื่อเข้าไปในมณฑปที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นวิหาร แล้วแหงนหน้าเห็นเทวดาเด็ก หรือทูตแห่งสวรรค์ ประดับอยู่บนเพดาน แสดงถึงอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกในยุคนั้น ที่สื่อถึงความรุ่งเรือง รื่นเริง และสรวงสวรรค์

ศิลปกรรมที่วัดแห่งนี้จึงนับว่ามีความหลากหลาย โดยมีการผสมผสานศิลปะล้านนา พม่า และศิลปะตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ

เห็นได้ชัดจากวิหารที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 โดยเป็นอาคารเรือนยอดซ้อนชั้นที่ภาษาพม่าเรียกว่า เปี๊ยะดั๊ดมาจากคำว่า ปราสาท ในภาษาสันสกฤต หมายถึงอาคารที่มีหลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปบัวเข็มอันศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะของวิหารเปิดโล่ง ตกแต่งด้วยงานประดับกระจกอย่างที่นิยมในศิลปะพม่า โดยวัสดุประเภทนี้ช่วยสะท้อนคติความเป็นเมืองแก้วในสวรรค์ ที่เชื่อว่ามีวิมานประดับด้วยแก้วมณี ทั้งนี้ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ช่างพม่าได้รับวิทยาการด้านการประดิษฐ์แก้วและกระจกมาจากชาติตะวันตก จากนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแบบของตนเองได้อย่างลงตัว โดยมีช่างฝีมือคนสำคัญ คือ อูชเวโอเป็นเจ้ากรมหุงแก้วของราชสำนักพม่า สมัยพระเจ้ามินดง เมื่ออูชเวโอเรียนจบจากประเทศฝรั่งเศส เขาได้กลับมาตั้งโรงงานผลิตแก้วขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ นับจากนั้นมา การใช้แก้วและกระจกตกแต่งสถาปัตยกรรมก็แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว และแพร่มาถึงล้านนาในที่สุด

เพดานวิหารยังแพรวพราวไปด้วยงานปูนปั้นประดับกระจกปิดทอง นอกจากรูปเทวดาเด็กแล้ว ยังมีกระต่ายประดับอยู่ฝั่งตะวันตกของวิหาร เป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์มาตั้งแต่โบราณ นอกจากนี้ อย่าลืมมองหาสิงโต ม้า มงกุฎ และอักษรตัว T ที่มองดูแล้วคล้ายตราสัญลักษณ์แบบตะวันตก มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นตราบริษัทสัมปทานไม้ของอังกฤษในเมืองลำปาง แต่ที่น่าสนใจคือภาษาพม่าที่กำกับอยู่ โดย รศ. อุบลรัตน์ พันธุมินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แปลได้ว่า ฝีมือช่างมัณฑะเลย์จึงเป็นไปได้ที่อาคารและงานประดับทั้งหมดจะเป็นผลงานของช่างจากเมืองมัณฑะเลย์

สำหรับเจดีย์ที่อยู่ด้านหลังวิหาร ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยกับพระธาตุลำปางหลวง รูปแบบเจดีย์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ได้รับการบูรณะมาแล้ว แต่ยังคงเค้าโครงของเดิมรูปแบบเดียวกับพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังในเมืองลำปาง

ด้านชื่อของวัดนั้น เกิดจากการรวมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดารามเข้าไว้ด้วยกัน โดยชื่อนำมาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ซึ่งตำนานพระแก้วดอนเต้ากล่าวว่า สมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ที่นี่มีชื่อเรียกว่า ม่อนดอนเต้า ส่วน ศ. สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า ชื่อนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานที่เล่าถึงนางสุชาดาได้พบแก้วมรกตในผล บะเต้าหรือแตงโม จากนั้นพระอินทร์ได้นำไปสลักเป็นพระพุทธรูปเรียกว่า พระแก้วก่อนจะประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้ จนนางสุชาดาเสียชีวิตแล้ว จึงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน

กล่าวกันว่า พระแก้วองค์นี้มีชื่อและพุทธลักษณะคล้ายกับพระแก้วมรกตที่ประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ โดยทำด้วยหินสีเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง 6 นิ้วครึ่ง เล็กกว่าพระแก้วมรกตเพียงเล็กน้อย เป็นศิลปะแบบเชียงแสนรุ่นหลัง ปางสมาธิราบ มีชายสังฆาฏิยาวรูปแฉก ที่สำคัญมีประวัติว่าเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าฯ เหมือนกันอีกด้วย

มาถึงวัดพระแก้วดอนเต้าฯ แล้ว ไม่ควรพลาดที่จะไปชมวัดสุชาดารามด้วย วัดแห่งนี้ถูกผนวกเป็นวัดเดียวกับวัดพระแก้วดอนเต้าฯ ทำให้เกิดชื่อวัดที่แสนอ่อนช้อยว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามอุโบสถและวิหารหลังเดิมของวัดมีปูนปั้นและลายคำที่สร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในตัวเมืองลำปาง

วัดสุชาดารามสร้างขึ้นบริเวณที่เป็นบ้านของนางสุชาดา โยมอุปัฏฐากวัดพระแก้วดอนเต้า เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนาง หลังจากที่นางได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฏความจริงในภายหลัง

วิหารของวัดสะท้อนสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงแสน มีปราสาทเฟื้องวางอยู่กลางสันหลังคา อันมีความหมายเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ หน้าวิหารจะเห็นหน้าแหนบ หรือหน้าบันไม้แกะสลักลวดลายพลิ้วไหวมีชีวิตชีวายิ่งนัก ภายในวิหารยังน่าตื่นตาด้วยงานไม้และจิตรกรรมฝาผนังในส่วนต่าง ๆ นับเป็นความงามที่สถิตอยู่ท่ามกลางมุมสงบทางด้านทิศใต้ ใครได้มาชมเป็นต้องหลงใหลในผลลัพธ์ที่สุดแสนลงตัวของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เมื่อศิลปะแบบตะวันตกเดินทางมาพบกับพม่าและล้านนา

(ร้อยเื่รื่องราว ฉบับที่ 925 วันที่ 10-16 พฤษภาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์