วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ก่อนถนนของเราจะไร้เงา...สามล้อถีบ


ตลาดหลังออมสินคึกคักเหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา ผู้คนมากหลาย รถราขวักไขว่ ด้วยสายตาอันฝ้าฟาง ลุงยืน ชัยรัตน์ วัย 75 ปี นั่งมองความเป็นไปเบื้องหน้าอยู่บนรถสามล้อถีบคู่ชีพที่เก่าชราพอ ๆ กัน

สมัยก่อนถนนเมืองลำปางมีแต่รถม้ากับรถสามล้อถีบเท่านั้นแหละลุงยืนพูดเสียงเบาคล้ายรำพึง รถสามล้อถีบนี่มีเป็นร้อย ๆ คัน วิ่งกันเต็มถนน

ลองหลับตาแล้วจินตนาการไปตามภาพจำของลุงยืน เมืองลำปางสมัยนั้นคงคลาสสิกน่าดู เรามีพาหนะที่แทบจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเลย ทั้งจักรยาน รถม้า และรถสามล้อถีบ ผิดกับสมัยนี้ ที่นับวันพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะพากันหายไปจากท้องถนน และที่น่าเศร้าก็คือ หายไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้เมืองลำปางเหลือรถสามล้อถีบแค่เพียง 5 คันเท่านั้น ในจำนวนนี้ 2 คันจอดอยู่ตลาดหลังออมสิน ที่เหลือกระจายไปอยู่หลักเมือง 1 คัน หัวเวียง 1 คัน และแถวร้าน ส. วิไล 999 อีก 1 คัน เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปบวกปัจจัยอีกหลายอย่าง ทำให้คนถีบสามล้อหันมานิยมนำรถของตนไปผนวกรวมเข้ากับมอเตอร์ไซค์ กลายเป็นสามล้อเครื่องดัดแปลงที่วิ่งได้ไกลกว่า แถมยังไม่เหนื่อยเหมือนสมัยถีบสามล้อด้วยสองน่องของตนเอง

เรื่องนี้ลุงยืนเองก็ยอมรับว่า จากที่เคยถีบรถสามล้อไปได้ไกลถึงสถานีรถไฟ เดี๋ยวนี้ไปแค่ห้าแยกหอนาฬิกาเท่านั้นก็เหนื่อยแล้ว ด้วยวัยที่มากขึ้น ลุงยืนจึงใช้เวลาทำงานแค่ 3 ชั่วโมง ต่อวัน โดยลุงจะมาอยู่ประจำคิวตลาดหลังออมสินตั้งแต่ 07.00-10.00 นาฬิกาเท่านั้น เพื่อรอลูกค้าประจำ และอาจมีลูกค้าจรบ้าง นั่นถือว่าเป็นกำไร

ลุงยืนถีบสามล้อมาตั้งแต่อายุ 18 ปี รถคันแรกของลุงราคา 5,000 บาท ลุงผ่อนส่งวันละ 10-20 บาท ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 3-8 บาท ลุงยืนถีบสามล้อเลี้ยงลูก ๆ 4 คนได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก เพราะสมัยก่อนค่าครองชีพถูกกว่าสมัยนี้อยู่มาก

เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นที่ 20-30 บาท เพราะเราไปไกลมากไม่ได้ บางทีราคาก็แล้วแต่ผู้โดยสารเขาจะกำหนด คนมีน้ำใจก็ให้เรามากหน่อยลุงยืนเล่าพลางขยับหมวกสักหลาดเพื่อเช็ดเหงื่อ ก็พออยู่ได้นะ ไอ้เรามันอยู่เฉยไม่เป็นลุงยืนหัวเราะก่อนขอตัวไปส่งลูกค้าประจำ เป็นเวลาเดียวกับที่รถสามล้อถีบอีกคันมาจอดแทนที่

วินัย ศรีธาวัชร์ วัย 59 ปี คนสมุทรสงคราม แต่มายึดโยงอาชีพถีบสามล้อเมืองลำปางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 กำลังจอดรถคู่ใจคันแรกและคันเดียวในชีวิต รถของวินัยแม้จะเก่า แต่ก็ยังคงเค้าความงามแบบเดิม ๆ เขาชี้ให้ดูยี่ห้อรถที่เขียนว่า เนียตังเพียวเส็ง วรจักร์ พระนคร

รถคันนี้อยู่กับผมมา 20 กว่าปีแล้ว ราคา 8,000 บาท สมัยก่อนผ่อนเดือนละ 500 บาท มีคนมาขอซื้อหลายคน แต่ผมไม่ขายหรอกครับวินัยยิ้มพลางโคลงศีรษะ เขาซื้อรถต่อจากคนอื่นอีกทอดหนึ่ง แต่ก็พอรู้ว่า รถคันนี้มีต้นกำเนิดจากย่านวรจักรในกรุงเทพฯ ก่อนจะถูกส่งมายังจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเปรียบดังศูนย์กระจายรถสามล้อถีบไปทั่วภาคเหนือ โดยที่จังหวัดลำปาง ร้านเต็กเชียงเส็งเป็นผู้แทนจำหน่าย มีอะไหล่และอุปกรณ์

รถสามล้อถีบสมัยก่อนมักถูกตกแต่งอย่างแพรวพราวเพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้า วินัยบอกว่า ด้านข้างล้อหน้าจะมีไฟดวงเล็ก ๆ หน้ารถก็มีไฟส่องสว่าง เช่นเดียวกับข้าง ๆ เบาะนั่งผู้โดยสารด้านนอก ที่จะมีไฟประดับด้วย เพราะสมัยก่อนรถสามล้อถีบวิ่งทั้งกลางวัน-กลางคืน ทุกคันจึงมีหม้อแบตเตอรีเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ใต้เบาะ เพื่อปั่นไฟใช้ในรถ หลังคาก็จะถูกพับมาด้านหลังให้ลูกค้าได้นั่งรับลมยามค่ำคืน บางคันยังมีดอกบัวเล็ก ๆ ประดับ ไม่นับลวดลายปั๊มติดกับแผ่นทองแดงที่กรุอยู่รอบตัวรถนั่นอีก คิดดูเถิดว่า รถสามล้อถีบสมัยก่อนนั้น จะน่ารักแค่ไหน

ตัวรถของวินัยทำด้วยไม้สัก แม้ผุกร่อนไปบ้าง แต่ยังดูแข็งแรง โครงหลังคาเป็นไม้แบบดั้งเดิม เบาะนั่งที่ขาดเผยให้เห็นวัสดุด้านในที่เป็นใยมะพร้าว ทำให้นั่งสบาย ไม่แข็ง ไม่นุ่มเกินไป แต่สำหรับคนถีบ วินัยบอกว่า การที่แฮนด์กับเบาะของคนถีบอยู่ใกล้กันมาก ทำให้การถีบสามล้อไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด

เคยมีผู้โดยสารขอลองถีบเล่น พอจะเลี้ยวซ้าย รถมันไม่เลี้ยวด้วย มันกลับไปทางขวาเสียอย่างนั้น รถสามล้อนี่บังคับยากเหมือนกันนะครับสำหรับมือใหม่เขาหัวเราะอารมณ์ดีก่อนบอกว่า ถีบสามล้อส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีทั้ง 3 คน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ใครได้ยินแล้ว คงอดที่จะยกย่องอาชีพเล็ก ๆ นี้ไม่ได้

จากโลกยุคเก่ามาถึงโลกยุคใหม่ ดูเหมือนวิเชียร ไชยมินทร์ วัย ๖๖ ปี จะอยู่ในช่วงรอยต่อนั้น เขาเพิ่งนำรถสามล้อถีบไปดัดแปลงเข้ากับมอเตอร์ไซค์ เพราะลูก ๆ ไม่อยากให้ผู้เป็นพ่อเหนื่อยมากนัก และตัวเขาเองก็ยังมีความสุขกับการไม่อยู่เฉยให้เป็นภาระต่อครอบครัว

วิเชียรถีบสามล้อมาตั้งแต่อายุ 26 ปี การเปลี่ยนรถทำให้เขาสามารถไปส่งผู้โดยสารได้ถึงสถานีขนส่ง หรือสถานีรถไฟ โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 20-50 บาท ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้แพงไปกว่าอัตราค่าโดยสารของรถสามล้อถีบ เพียงแต่สามารถไปได้ไกลกว่าและไม่เหนื่อยเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องแลกกับค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายด้วย

วิเชียรมาประจำอยู่ที่คิวตลาดหลังออมสินเวลา 08.00-12.00 นาฬิกา คันอื่น ๆ ก็จอดประจำการอยู่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นช่วงติดตลาดตอนเช้านั่นเอง ลูกค้าประจำเมื่อซื้อของจะทยอยหอบหิ้วมาไว้บนรถ รอบแล้วรอบเล่า คนถีบสามล้อรอคอยจนกว่าลูกค้าจะซื้อของเสร็จ เมื่อลูกค้าก้าวขึ้นรถ อาศัยความคุ้นเคยกันมานาน ไม่ต้องพูดต้องบอก คนถีบสามล้อก็จะนำรถคู่ชีพของเขาไปส่งถึงบ้านอย่างปลอดภัย

พวกเรารู้หมดล่ะครับว่าบ้านคนนั้นคนนี้อยู่ที่ไหน นั่งกันทุกวันวิเชียรพูด ลูกค้าประจำยังมีอัตราค่าโดยสารที่แตกต่าง เรียกว่าเรตพิเศษ สำหรับซื้อใจกันโดยเฉพาะ

สายมากแล้วตลาดคงเริ่มวายในไม่ช้า ลุงยืนนั่งพักเหนื่อย ถอดหมวกสักหลาดใบเก่งมาโบกคลายร้อน วินัยจูงรถออกจากคิวเตรียมไปส่งของ วิเชียรติดเครื่องรถรอลูกค้าคนล่าสุด

อีกไม่นานพาหนะที่สุดแสนเรียบง่าย ไม่ก่อมลภาวะ รับใช้ผู้คนมายาวนาน คงถึงวันที่จะต้องถอยร่นให้กับโลกที่หมุนเร็วและซับซ้อน โลกที่ดูเหมือนไม่มีที่ว่างให้กับความเนิบช้าอีกต่อไป  

  (คอลัมน์ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 942 วันที่ 13-19 กันยากัน 2556)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์