วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ประดาบเลือดเดือดสื่อ – กสทช.


ภาพเงานายทุน ขุนศึก ของกสทช. ชัดเจนมากขึ้น หลังจากปรากฏร่างกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 ของกฎหมายประกอบกิจการ ที่ย้อนยุคไปห่มคลุมเสื้อเผด็จการ จนกระทั่งการใช้อำนาจศาล จัดการนักวิชาการ และสื่อที่ตั้งวงเสวนาว่าด้วยเรื่องสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1800 ว่ามีเงื่อนงำ น่าสงสัย การตัดสินใจใช้มาตรการแข็งกร้าวของ กสทช.ในปีกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ที่มีสุทธิพล ทวีชัยการ อดีต เลขาธิการ กกต.เป็นหัวหอก ศึกระหว่างสองฝ่ายก็ยากที่จะสงบง่ายดาย

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน อธิบายว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เธอไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพนักวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข่าวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระภาครัฐจากคนภายนอก

 “การฟ้องร้องครั้งนี้กลับยิ่งทำให้องค์กรได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะการที่ กสทช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์และอาจไม่พอใจกับข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบนั้น ก็สามารถใช้สิทธิในการโต้แย้งเพื่อชี้แจงข้อมูลผ่านการแถลงข่าว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้งบประมาณซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของ กสทช. ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รวมทั้งพบว่าสถานีโทรทัศน์บางช่องได้เชิญกรรมการบางท่านไปออกรายการเพื่อชี้แจง แต่กลับได้รับการปฏิเสธไม่ร่วม การกระทำเช่นนี้ย่อมอาจถูกมองได้ว่าเป็นการปฏิเสธการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งขัดเจตนารมณ์การเป็นองค์กรอิสระที่ต้องมีหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้” สุภิญญา กล่าว

กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค) ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีนำเสนอข่าวการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ณ ศาลอาญา

ในแง่ของผู้ที่อ้างหรือเชื่อว่าเสียหาย ก็ย่อมมีสิทธิที่จะขอใช้อำนาจศาลปกป้องตัวเองได้ แต่เจตนาในการฟ้องสำคัญกว่านั้น คือ นี่เป็นเจตนาที่จะข่มขู่คุกคามสื่อ และนักวิชาการ ที่ทำหน้าที่โดยปกติตามวิชาชีพเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่

ในแง่หลักการ การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความ ที่มีลักษณะติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ก็เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท กทค.ซึ่งอ้างว่าเสียหาย ควรได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่ของนักวิชาการ ที่มุ่งจะเสนอแง่มุมทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นความไม่ปกติของสัญญาสัมปทาน อันจะเป็นประโยชน์สำหรับ กทค.ในการทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจบทบาท หน้าที่ของสื่อมวลชน ที่จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน รอบด้าน ถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ประชาชนควรต้องรับรู้ ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชน ไม่มีแง่มุมไหนเลยที่ชี้ให้เห็นการทำหน้าที่โดยมุ่งให้ร้ายบุคคลใดเป็นส่วนตัว ตรงกันข้ามเนื้อหา ถ้อยคำที่ กทค.นำมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดี ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น

กรณีเช่นนี้ เคยปรากฏมาก่อน จากการที่บริษัทโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งฟ้องผู้ร่วมรายการ และจอมขวัญ หลาวเพ็ชร พิธีกรรายการ คม ชัด ลึก ทางเนชั่นแชนแนล  ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวน โดยให้เหตุผลว่า

 “...การตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ ความไม่โปร่งใสในการประมูล เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน”

ซึ่งศาลได้ยกฟ้องผู้ร่วมรายการในเวลาต่อมา ด้วยเหตุว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ไม่ว่า กสทช. โดย กทค.จะเดินหน้าใช้อำนาจศาลข่มขู่ คุกคาม นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ตามวิชาชีพครั้งนี้อย่างไร ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง การทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กทค.และกสทช. ทั้งคณะอย่างเข้มข้น

หลายเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาใน กสทช.ขณะนี้ ทั้งมาตรา 37 และเรื่องอื่นๆส่งสัญญาณว่า กสทช. กำลังเดินหน้าเพื่อบดขยี้กระบวนการปฎิรูปสื่อ ซึ่งเป็นหลักไมล์แรกในการก่อเกิด กสทช.

ความกลัวทำให้เสื่อม ไม่มีใครกลัว กสทช.โดยเฉพาะกสทช.ในยุคนายทุน ขุนศึก ที่ซุ่มซ่อนบาดแผลไว้มากมาย ปรากฏการณ์แบบ “วัวสันหลังหวะ” เช่นนี้ จะปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนี้


                                                                                                                  (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 942 วันที่ 6-12 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์