วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

'ดาชัย' ไผ่แยกกอ ปะทะอำนาจเก่า


แม่น้ำแยกสาย ดาชัยแยกกอ บุกหนักการเมืองท้องถิ่น ปูทางสนามใหญ่ ไพโรจน์-กิตติกร ประสานเสียง เลือกใครต้องเป็นคนดี นโยบายปฎิบัติได้ ชี้ข้าวนอกนา ตั้งพรรคเองทิ้งฐานเสียงเพื่อไทย แดงเทียม ชี้โอกาสยาก พรรคเล็กได้ปาร์ตี้ลิสต์

สัญญาณความคึกคักดังขึ้น ในท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ “แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” ที่รุ่นเล็กอาจหาญ ข้ามชั้นชกรุ่นใหญ่

ห้วงเวลานี้ในหลายเทศบาลและ อบต.ได้หมดวาระและมีการสมัครรับเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาในคราวเดียวกันกว่า 60 แห่ง โดยมีชื่อของพรรคพลังประเทศไทย ซึ่งมีนายดาชัย อุชุโกศลการ เป็นหัวหน้าพรรค เดินหน้าสนับสนุนการเมืองท้องถิ่นหลายแห่ง และได้ประกาศตัวส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ในสนามเลือกตั้งเทศบาลเมืองพิชัย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าคนของนายดาชัยจะไม่ได้รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีแต่ก็คว้าที่นั่ง สท.ในสภามาได้ถึง 7 ที่นั่งด้วยกัน  พร้อมกันนี้นายดาชัยยังได้เปิดเผยชื่อผู้ที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามของพรรคพลังประเทศไทยแล้วใน 2 เขตการเลือกตั้ง คือ เขต 1 นายณฤธร ถาคำฟู  ทายาทอดีต ส.ส.ดังลำปาง  และเขต 2 นายจินดา วงศ์สวัสดิ์  อดีต ส.ส.ลำปางและนายดาชัย ยังวางตัวให้ตนเองลงสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสด้วย

นายดาชัย อุชุโกศลการ หัวหน้าพรรคพลังประเทศไทย  เปิดเผยว่า พรรคพลังประเทศไทยจะใช้ระบบไพรมารี่โหวต(Primary Vote)ทั้งหมด  และเริ่มรับสมัครสมาชิก ซึ่งจะมาเป็นผู้คัดเลือกคนที่จะลงสมัคร เป็นการคัดกรองอีกทางหนึ่งเพื่อให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเข้าไปทำงาน ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่นที่พรรคมีการเลือกเองและวางตัวผู้สมัครเอง และขณะนี้มีผู้ที่เสนอตัวเข้ามาร่วมอุดมการณ์ในเขต 1 และเขต 2 อยู่หลายคน ซึ่งเริ่มมีการลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้าน  เพราะอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการเลือกตั้ง  การที่เจาะจงลงไปในพื้นที่เขต 1 เขต 2 นั้นเป็นพิเศษ เนื่องจากว่ายังพบปัญหาที่ไม่ได้มีการแก้ไขอีกหลายแห่ง

“ผมรู้ปัญหาดีกว่า ส.ส.ในพื้นที่ จึงต้องการให้คนที่มีความรู้ความสามารถในลำปางที่ยังมีอยู่อีกมากได้มีโอกาสเข้ามาทำงานบ้าง พรรคยินดีที่จะสนับสนุนทุกคนที่อยากจะลงสมัคร  ในส่วนของเขต 3 และเขต 4 ยังไม่มีผู้เสนอตัวเข้ามา หากมีเราพร้อมที่จะส่งลงสมัครลงทุกเขต”  นายดาชัย กล่าวและว่า

ผมคิดว่าทุกวันนี้คนไทยยังไม่รู้จักประชาธิปไตย แต่ละพรรคการเมืองยังใช้ระบบนายทุนและสืบทอดทางทายาทในการคัดเลือกผู้สมัครอยู่ ถ้าพรรคการเมืองมีประชาธิปไตยจริงควรจะเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคเลือกกันเองว่าอยากได้นักการเมืองคนไหน  แต่ทุกวันนี้พรรคเลือกผู้สมัคร ส.ส. มาให้ประชาชนเลือก  เช่นเดียวกับกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดงที่มีสมาชิกทั่วประเทศ 3 ล้านกว่าคน รวมทั้งคนเสื้อแดงลำปางเองที่เป็นสมาชิกก็ไม่เคยมีโอกาสไปเลือกประธาน 

สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคพลังประเทศไทยตั้งขึ้นชนกับพรรคเพื่อไทย นายดาชัย กล่าวว่า พรรคพลังประเทศไทยไม่ได้มาชนใคร แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนลำปาง หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการมาท้าชนเนื่องจากว่า ส.ส.ของลำปางเป็นของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด  อย่างที่ทราบกันดีว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย บ้านเลขที่ 111 และ 109  ที่ปลดล็อคและกลับเข้าสู่พรรค ด้วยข้อจำกัดคือ ส.ส.ลงได้  400 เขต ปาร์ตี้ลิส 60-70 คน  อดีต ส.ส.ผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ลงสมัครพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาอยู่พรรคพลังประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรถ้าพรรคเพื่อไทยทำดีอยู่แล้วคนก็เลือกพรรคเพื่อไทย
นายดาชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้พรรคพลังประเทศไทยเตรียมเปิดสาขาที่ จ.อุดรธานี จ.สมุทรปราการ  จ.นครศรีธรรมราช  มีสมาชิกกว่า 10,000 คน  และมีผู้เสนอตัวลง ส.ส.ในต่างจังหวัดแล้วเช่นกัน  และยังได้ทยอยเปิดศูนย์ประสานงานพรรคฯใน 13 อำเภอของลำปาง และจังหวัดใกล้เคียงด้วย

เพื่อไทย ไม่หวั่นศึกสายเลือด

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่เดิมที่ยังคงครองเก้าอี้ ส.ส.ได้อย่างเหนียวแน่น กลับไม่ได้รู้สึกหนักใจกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นไปได้ยากที่พรรคเล็กจะมีโอกาสเข้าไปนั่งในสภา

นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร  อดีต รมว.มหาดไทย และส.ส.ลำปางหลายสมัย กล่าวว่า พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน ไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง การที่มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ก็เป็นเรื่องที่ดี  ทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือก แต่การเปิดตัวพรรคการเมืองแล้วนำชื่อคนนั้นคนนี้ไปใส่ ต้องดูด้วยว่าเจ้าตัวเขาได้ยินยอมหรือไม่ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน 

เมื่อสอบถามว่าความเป็นไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ยังมีความหมายต่อคนลำปางหรือไม่  อดีต ส.ส.หลายสมัยกล่าวว่า ชื่อของไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ไม่ได้สำคัญว่าจะมีความหมายต่อใคร ไม่ใช่ว่าเราจะมีความหมายต่อคนทุกคนได้  เพียงแต่ประชาชนจะเชื่อถือและมองเราอย่างไร การที่ทายาทลงสมัครการเมืองก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาได้มีทายาทลงการเมืองและเป็นผู้แทนของประชาชนมาโดยตลอดอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะลงสมัครอีกในครั้งต่อไป   ตอนนี้ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไร เวลาอีก 2 ปี ยังอีกยาวไกล ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้แทนของเขา การที่จะตัดสินว่าใครจะได้เป็นผู้แทน เราไปกำหนดไม่ได้ ถ้าคุณเป็นคนดีประชาชนเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทน ประชาชนก็จะเลือกเข้าไป  ซึ่งอยู่ที่ตัวผู้ที่ลงสมัครด้วยว่าเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนหรือไม่ 

นายไพโรจน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาของการเมืองทุกวันนี้อยู่ที่คน ไม่ใช่อยู่ที่การเมือง การเมืองจะดีได้คนก็ต้องดีก่อน หากการเมืองดี แต่คนยังเลวอยู่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ขณะที่นายกิตติกร โล่ห์สุนทร  อดีต ส.ส.ลำปาง ได้ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า ปัจจุบันการเมืองไทยแบ่งขั้วออกชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อสู้กันทางการเมืองมายาวนาน  การที่มีพรรคการเมืองอื่นหรือพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่เพิ่มขึ้นมาคงไม่มีผลกระทบทางการเมือง เพราะพรรคการเมืองเล็กอาจจะเข้าถึงประชาชนยาก การที่ประชาชนจะเลือกพรรคใดนั้น ส่วนใหญ่จะมองนโยบายพรรค และความเป็นรูปธรรมที่มีความชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริง  ซึ่งพรรคเล็กอาจจะมีแนวนโยบายที่ดี แต่เมื่อเข้าไปในสภาแล้วอาจจะไม่สามารถนำนโยบายมาปฏิบัติได้ เพราะอย่างไรก็ต้องยึดแนวนโยบายของพรรครัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่  

สำหรับพรรคการเมืองของ จ.ลำปางที่ตั้งขึ้นใหม่ก็อาศัยฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มคนเสื้อแดง การที่เขาแยกออกไปแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ใช่เสื้อแดงที่แท้จริง  ผมก็เห็นว่าเขาพยายามต่อสู้กับทุกคน มีเวทีการเมืองไหนก็พยายามจะลงเลือกตั้งหมด อาจเป็นเพราะเขาสนใจเวทีการเมืองอยู่แล้ว คงไม่เกี่ยวกับการแทรกแซงใคร อย่างที่กล่าวไปว่าประชาชนเข้าใจระบบการเมืองมากขึ้น เมื่อจะเลือกใครก็จะมองที่นโยบายพรรคเป็นส่วนใหญ่  อีกประการหนึ่งที่พรรคเล็กจะเสียโอกาสคือ การเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสจะไปเอื้อพรรคการเมืองใหญ่มากกว่า เพราะพรรคใหญ่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั้งประเทศ  ตัวอย่างกรณี คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่มีชื่อเสียง เชื่อว่าเป็นที่รู้จักมากกว่าหัวหน้าพรรคที่ จ.ลำปาง  ซึ่งได้แยกตัวไปตั้งพรรคการเมืองเอง และมีฐานเสียงใหญ่ที่ จ.ขอนแก่น แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิส 

“แต่ที่เป็นปรากฏการณ์คือพรรคของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์  ที่ได้รับเลือกเข้ามา 5 คน เนื่องจากคุณชูวิทย์ได้ทำการตลาดทั้งประเทศให้ประชาชนได้รู้จัก  ต้องกลับมามองว่าพรรคการเมืองที่ จ.ลำปางได้ทำแผนการตลาดเช่นนี้หรือไม่ และเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศแล้วหรือยัง  หากไม่ได้ทำในส่วนนี้ ก็จะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งน้อยมาก”   นายกิตติกร กล่าว.


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 945 วันที่ 27 กันยากัน - 3 ตุลตาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์