แต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบนักศึกษา
เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน แม้กระทั่งแต่งเครื่องแบบนักศึกษาแล้ว
ก็ยังมีมิติของความเหมาะสมเสื้อคับติ้ว กระโปรงสั้นเต่อ ซึ่งกลายเป็น “จุดขาย”ของบางคนที่แอบแฝงมาในคราบนักศึกษา แปรรูปเป็นสินค้าราคาดี
หากสเตตัสระบุอาชีพนักศึกษา นี่ก็เป็นมุมที่กลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านคำสั่งแต่งชุด
ใช้เป็นข้อต่อสู้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย บนหลักการสิทธิเสรีภาพ
ชุดนักศึกษา
ยังเป็นประเด็นร้อน และคาดว่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอีกนาน เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างถึง ‘สิทธิ’
เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงออกถึงตัวตนได้อย่างอิสระเสรีโดยเฉพาะกระแสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านเฟสบุ๊คของคนรุ่นใหม่
ทำให้สิ่งที่เคยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมมาหลายสิบปีกำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลกของสังคม
การแต่งเครื่องแบบนักศึกษา
หากมองในเชิงสัญลักษณ์อาจมีความหมายว่านักศึกษาแต่ละคนมาจากต่างถิ่น ต่างที่
ต่างชนชั้นฐานะ
แต่เมื่อเข้ามาเป็นสถานะนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้วถือว่ามีฐานะเท่ากัน
ก้าวเท้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาหาความรู้ โดยไม่แบ่งแยกเหมือนดั่งที่
พระบรมราชวงศ์...พระเทพฯ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ
พระองค์ภา
ต่างก็เข้าห้องเรียนร่วมกับนักศึกษาคนอื่นๆด้วยชุดนักศึกษาเช่นกัน
หากแต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป
แฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลง จากชุดนักศึกษา เครื่องแบบที่ดูเรียบง่าย เสื้อเชิ้ตสีขาว
กระโปรง กางเกงผ้า สีดำ กรรมท่า แบบพอดีตัว
กลายเป็นเสื้อเชิ๊ตนักศึกษาที่รัดรึงแน่นอก
ผ้าบางกระชับและนักศึกษาหญิงเจตนาใส่เสื้อชั้นในสีเข้ม
กระโปรงนักศึกษาจากที่เคยยาวเลยเข่า
กับหดสั้นรัดตรึงสะโพกร่นขึ้นมาแทบเห็นสิ่งสงวน
แฟชั่นเหล่านี้ถือเป็นเครื่องแบบศึกษา หรือเป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ทางเพศที่ใช้เครื่องแบบนักศึกษาเป็นร่างทรงเท่านั้น
ประเด็น
เครื่องแบบนักศึกษา
เริ่มจากกรณีอาจารย์ผู้สอนวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บังคับให้ทุกคนแต่งชุดนักศึกษา
มิฉะนั้นจะตัดสิทธิไม่ให้เข้าสอบ
นักศึกษาเลือกวิธีประท้วงโดยแต่งเครื่องแบบแสดงท่าทางเสพสังวาส
ทำเป็นโปสเตอร์เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อเรียกร้องความสนใจ
และก็เป็นผลแต่เพียงมีผลทางลบติดมาด้วย นาทีนี้ไม่ใช่เวลาของการหาตัวคนผิด
เพราะทุกคนต่างทำตามความเชื่อของตัวเองอาจารย์ที่มาจากสายวิทยาศาสตร์
อาจไม่เข้าใจจิตวิญญาณเสรี
ส่วนนักศึกษาก็ไม่เคารพต่อศีลธรรมอันดีและไม่ให้เกียรติสถาบันการศึกษาของตัวเอง
จึงแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมออกไป
เป็นความจริงที่ว่าการใส่เครื่องแบบไม่ได้ทำให้เราเรียนดีขึ้นหรือเก่งขึ้นได้
เป็นความจริงที่การใส่เครื่องแบบอาจถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความกดขี่ในยุคไหนก็แล้วแต่จะเชื่อมโยงกันไปในเชิงประวัติศาสตร์
แต่ก็เป็นความจริงที่การใส่เครื่องแบบ...เป็นการเตือนให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีในบริบทแวดล้อมที่
แสดงถึงความเป็นกลุ่ม เป็นพวกเดียวกัน ทำให้ไม่รู้สึกแตกต่างกัน
แม้ฐานะและรสนิยมจะต่างกัน...
คนนั้นไม่อยู่คงที่
เดินผ่านมาแล้วก็จากไป แต่สถาบันยังต้องจีรัง จึงต้องมีกรอบ มีแบบแผนในการปฏิบัติ
มีระบบที่ทำให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องคิดถึงคนหลายๆคน
ต้องคิดถึงส่วนรวม คิดถึงเหตุผลของคนอื่น การตอบสนองความรู้สึกอยากได้
ในสิ่งที่เชื่อว่าคือเสรีภาพ ของคนบางคน แล้วทำร้ายสิทธิเสรีภาพ ความคิด
ความเชื่อของคนอื่น แน่ใจหรือว่าคือหลักการประชาธิปไตย?
(คม-คิด แร็คลานนา ฉบับที่ 944 วันที่ 20-26 กันยากัน 2556)