ช่วงฤดูฝนราวเดือนสิงหาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนตุลาคม
หลังว่างเว้นจากการงานในไร่นา เช้า ๆ ผู้ชายพื้นถิ่นเหนือทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างจับกลุ่มพากันบ่ายหน้าขึ้นดอยดินแดง
ออกตามหาแมลงมีเขาที่เรียกว่า กว่าง ไม่ก็หาเอาตามต้นไม้ที่มีเครือเถา
ไปเขย่าตามต้นไผ่ กว่างที่มีอยู่มากมายสมัยหนึ่งนั้นก็จะร่วงลงมาให้จับแต่โดยดี
เกิดเป็นประเพณีการประลองกว่างอันเก่าแก่ของภาคเหนือที่มีมาแต่ช้านาน
โดยเฉพาะที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งถือว่ากว่างเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอ
มีการจัดเทศกาลโลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา และงานของดีเมืองปัวควบคู่กันไปทุกปี
กว่างเป็นแมลงปีกแข็งจำพวกด้วง
ถูกจัดอยู่ในอันดับ COLEOPTERA
ในวงศ์ DYNASTIDAE ตัวผู้มีเขา 2
เขาโง้งเข้าหากัน ส่วนตัวเมียไม่มีเขา กล่าวกันว่า เขาของด้วงตัวผู้
ก็คือส่วนของกรามที่ขยายใหญ่นั่นเอง กว่างออกไข่ในดิน
ช่วงชีวิตของตัวอ่อนเป็นตัวหนอนหากินอยู่ในดินราว 7-8 เดือน
ตัวเต็มวัยจะขึ้นมาจากดินราวเดือนกรกฎาคม และมีอายุต่อจากนั้นไปอีกประมาณ 3-5
เดือน เพื่อจับคู่สืบทอดเผ่าพันธุ์
โดยกว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์แล้วจะเร่งรีบขุดดินวางไข่ให้ทันก่อนที่ตัวเองจะตาย
เพราะกว่างมีวงจรชีวิตแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้น
กว่างตัวผู้มีเขาเป็นอาวุธในการต่อสู้
โดยการใช้เขากีดขวางตัวผู้อื่น ๆ ไม่ให้เข้ามาในเขตของตัวเอง
มันอาจใช้เขายกคู่ต่อสู้ทิ้งให้ไกลออกไป และใช้ในการดึงดูดความสนใจจากตัวเมียด้วย
ดู ๆ แล้วกว่างก็เช่นเดียวกับสัตว์เพศผู้ชนิดอื่น ๆ
ที่มักจะต่อสู้กันเพื่อป้องกันแหล่งที่อยู่ ตัวเมีย หรือไม่ก็อาหาร นอกจากนี้
มันยังมีกรงเล็บที่ขาเพื่อจับยึดกิ่งไม้ไว้อย่างแน่นเหนียว มีขนปกคลุมบนขา
ทำให้รับรู้ถึงการสั่นสะเทือน ที่สำคัญ มันยังมีปีกแข็งคู่หน้าไว้ปกป้องร่างกาย
อันเป็นลักษณะเฉพาะของด้วง
มีการแบ่งประเภทของกว่างออกเป็น
4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กว่างโซ้ง กว่างกิ กว่างแซม และกว่างอีลุ้ม
กว่างโซ้ง
เป็นยอดปรารถนาของใคร ๆ ความที่มันเป็นกว่างตัวผู้ขนาดใหญ่งามสง่า
มีเขายาวและหนาทั้งข้างบน-ข้างล่าง กว่างชนิดนี้นี่เองที่เขานิยมใช้ชนกัน
กว่างกิ
คำว่า “กิ” แปลว่าสั้น กว่างกิก็คือ
กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น ไม่สามารถใช้เขาหนีบใครได้ มันจึงถนัดใช้เขาล่างงัดคู่ต่อสู้มากกว่า
กว่างแซม
ลักษณะคล้ายกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่ากันสักหน่อย
มีเขาสั้นเท่ากันทั้งข้างบน-ข้างล่าง ชอบร้อง “ซี่ ๆ”
กว่างอีลุ้ม
คือกว่างตัวเมีย ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวล่อเสมอ
บางคนที่ไม่ออกไป
“เสาะกว่าง” จะใช้วิธีดักจับด้วยการใช้กว่างตัวเล็กมาเป็น
“กว่างตั้ง” ล่อให้กว่างโซ้งบินมาหาในยามค่ำ
หรือไม่ก็ใช้กล้วยน้ำว้าใส่ตะกร้าตั้งล่อไว้ทั้งคืน
เมื่อได้กว่างตัวเก่งมาแล้ว
เจ้าของจะสรรหาอาหารโปรดอย่างอ้อย หรือไม่ก็กล้วยน้ำว้ามาบรรณาการ
ขณะเดียวกันก็พันธนาการมันไว้ไม่ให้บินหนีด้วยเชือกฝ้ายที่ผูกไว้ตรงส่วนเขา
แต่ละวันพวกเขาจะฝึกซ้อมกว่าง โดยซ้อมบิน ว่ายน้ำ
เดินบนพื้นทรายร่อนละเอียดเพื่อให้เล็บคม แข็งแรง เกาะคอนได้แน่นขึ้น
พร้อมกับฝึกฝนทักษะการต่อสู้ด้วยเทคนิคเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่า
กว่างเป็นนักสู้ที่ยอมรับในความพ่ายแพ้ เมื่อรู้ตัวว่าสู้ไม่ได้ มันจะไม่ดันทุรัง
แต่เลือกที่จะถอยหนีเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตาย
คืนวันผันผ่าน
การออก “เสาะกว่าง” ในหมู่ผู้ชายชาวบ้าน
หรือการอดหลับอดนอนเพื่อเฝ้ากว่างโซ้งให้มาติดกับก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว
เพราะตามตลาดมีพ่อค้าหัวใสจับกว่างมาขายให้ถึงที่ ขณะเดียวกันจำนวนประชากรกว่างเริ่มมีอันลดน้อยถอยลง
เพราะถูกจับมาขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้ นักวิชาการประมาณกันว่า
ในตลาดทั่วภาคเหนือมีการขายกว่างกันปีละมากกว่า 50,000 ตัว
ประกอบกับทุกวันนี้เรารู้กันดีอยู่ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าชนิดมโหฬาร
เรียกได้ว่าแหล่งอาศัยของกว่างเองก็เริ่มร่อยหรอ
แล้วยังมีการประโคมใช้ยาฆ่าแมลงกันเข้าไปอีก
นักอนุกรมวิธานด้านแมลงจึงพากันเป็นห่วงว่า
ความหลากหลายด้านพันธุกรรมของกว่างในธรรมชาติจะลดลง
ทว่าหนทางช่วยเหลือกว่างยังพอมีอยู่ พวกเขาต่างหวังว่า เมื่อกว่างใกล้จะหมดอายุขัย
เจ้าของจะยินยอมปลดปล่อยมันในบั้นปลายชีวิต โดยเฉพาะตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรง
ซึ่งมักจะเป็นกว่างตัวโปรด ให้พวกมันได้มีโอกาสกลับคืนสู่ธรรมชาติในที่ที่เหมาะสม
ได้ทำหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบหมายมาอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ผสมพันธุ์
แพร่ขยายดำรงเผ่าพันธุ์ที่ดีต่อไป
กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
(ร้อยเื่รื่องราว ฉบับที่ 944 วันที่ 20-26 กันยากัน 2556)