วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ชามตราไก่มากกว่าใส่อาหาร แต่คืองานศิลปะ


ปี พ.ศ. 2490 ชาวจีนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมีพื้นเพมาจากเมืองไท้ปูอัน เมืองที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตถ้วย จาน และชามของประเทศจีน ได้ชักชวนกันขี่จักรยานเพื่อออกค้นหาแหล่งดินขาวในอำเภอแจ้ห่มจนเจอ ชาวจีนกลุ่มนี้พบว่า ดินขาวที่นี่ช่างแกร่ง ทนความร้อนสูง ให้เนื้อผลิตภัณฑ์เป็นสีขาวสวย หลังจากนั้น พวกเขาจึงได้ร่วมกันก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกในจังหวัดลำปาง แล้วเมื่อข่าวการพบแหล่งดินขาวคุณภาพเยี่ยมแพร่สะพัดออกไป โรงงานเซรามิกของชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างก็พากันย้ายฐานการผลิตมาตั้งที่เมืองลำปางกันอย่างคึกคักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา โดยช่วงแรก ๆ อาจจะล้มลุกคลุกคลานกันอยู่บ้าง ทว่าจนถึงทุกวันนี้ ลำปางมีโรงงานเซรามิกรวม ๆ กันประมาณ 200 โรง และเป็นเมืองที่น่าจะถูกนึกถึงก่อนใคร หากมีการเอ่ยถึงคำว่า เซรามิก

จากเหตุการณ์นี้ คนทั่วไปอาจคิดว่า ประวัติการทำเซรามิกเมืองลำปางคงเริ่มมีขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง แต่ในความเป็นจริง ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดีของมติชนสุดสัปดาห์ว่า มีการค้นพบเซรามิกสมัยล้านนาชิ้นสำคัญจาก 2 แห่ง แห่งแรก คือ ช่อฟ้าประดับวิหารของวัดพระธาตุเสด็จ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน และอีกชิ้นหนึ่ง คือ งานดินเผาปั้นรูปกินรี หงส์ และสัตว์หิมพานต์รอบ ๆ ซุ้มประตูโขงของวัดไหล่หินหลวง

ดินเผาเคลือบเซรามิกทั้ง 2 แห่งนี้ มีอายุประมาณ 400 ปี และอาจกล่าวได้ว่า นี่คือต้นแบบของเซรามิกเมืองลำปาง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยืนยันว่า เมืองลำปางกับเซรามิกนั้น มีอยู่คู่กันมาเนิ่นนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองพื้น ๆ ที่มองเซรามิกเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้ชิดกับเราทุกวันบนโต๊ะอาหาร คงหนีไม่พ้นนิยามของชามตราไก่

ชามตราไก่เป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวใช้ดินขาวจากเมืองลำปางเนรมิตมันขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ว่ากันว่า ชามตราไก่แท้ ๆ นั้น เป็นชามที่เหมาะสำหรับการใช้ตะเกียบพุ้ย เดิมทีมี 4 ขนาด คือ ขนาดปากกว้าง 5-6 นิ้ว ซึ่งในในบ้านและร้านข้าวต้มชั้นดี ส่วนขนาด 7-8 นิ้ว สำหรับจับกังที่กินจุ

ชามตราไก่ดั้งเดิมต้องมีรูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยรับกับเหลี่ยม และเพื่อให้รับกับปลายนิ้วคนถือ ขามีเชิง วาดลวดลายด้วยมือเป็นรูปไก่ ขนคอและลำตัวสีแดง หางและขาสีดำ เดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูออกม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย มีต้นกล้วย 3 ใบ สีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา บางใบมีค้างคาวห้อยหัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไก่ มีดอกไม้ ใบไม้เล็ก ๆ แต้มอยู่ก้นชามด้านใน

จึงไม่แปลก หากเราจะเห็นว่า บางบ้านเก็บชามตราไก่โบราณของแท้ไว้เป็นคอลเล็กชัน จัดเรียงรายไว้ในตู้โชว์ แล้วหากได้ลองสัมผัสด้วยการใช้นิ้วมือลูบไปมาที่ลวดลาย จะรู้สึกได้ถึงความหยาบ ไม่ใช่เรียบเนียนเช่นงานพิมพ์เหมือนชามตราไก่ที่วางขายอยู่ดาษดื่น นี่คือเสน่ห์ของชามตราไก่ที่แท้จริง ปัดฝุ่นเสียหน่อยมันก็ดูคล้ายกับงานศิลปะดี ๆ นี่เอง

แม้ว่ากลไกของตลาดที่เน้นของถูกขายง่าย จะผลักไสให้ชามตราไก่ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบเดิม ๆ และวาดลวดลายด้วยมือ ให้ขายยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากราคาที่สูงลิบ แต่ก็น่าดีใจที่ยังมีโรงงานเซรามิกบางโรงในเมืองลำปางไม่คิดจะปรับเปลี่ยนลวดลายไปเป็นอื่น ยังคงยึดมั่นในรูปแบบดั้งเดิมของชามตราไก่แท้ ๆ ซึ่งมีต้นแบบมาจากเมืองจีน

เช่นนี้ อาจสรุปง่าย ๆ ได้ไหมว่า ครั้งหน้าหากคุณซื้อชามตราไก่แบบ 3 ใบร้อย นั่นหมายความว่า คุณต้องการภาชนะสำหรับใส่อาหาร แต่หากคุณตัดสินใจซื้อชามตราไก่ใบละเกือบ 200 บาท นั่นคือ คุณกำลังซื้องานศิลปะ และขอให้ใช้มันอย่างรื่นรมย์เถิด

  (คอลัมน์ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 942 วันที่ 13-19 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์