วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

เข้มสอบปลายท่อ จับผิดมือปล่อยน้ำเสีย


เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับกรมเจ้าท่าขุดลอกแม่น้ำวัง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้วิกฤตแม่น้ำวัง  เข้มตรวจสอบปากท่อ พบน้ำเสียไล่ท่อเอาผิดทั้งสาย

เมื่อวันที่  9 ก.ย.56 นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 สำนัก
พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า เปิดกิจกรรมโครงการปรับปรุงและพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำวัง จ.ลำปาง ณ บริเวณแม่น้ำวัง หลังโรงงานซีอิ้ว เชิงสะพานบ้านดงม่อนกระทิง เทศบาลนครลำปาง โดยมีประชาชนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน

นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ร่วมกับ เทศบาลนครลำปาง จัดทำแผนงานการ ขุดลอกแม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการปรับปรุงและพัฒนาฟื้นฟูสภาพแม่น้ำวัง จังหวัดลำปาง ในเขตพื้นที่เทศบาลนครลำปางบริเวณเชิงสะพานบ้านดงม่อนกระทิง-เชิงสะพานสบตุ๋ย ระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร จนถึงวันที่ 17 พ.ย. 56 เพื่อแก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ด้วยการขุดลอกสันดอนกลางน้ำ, เพื่อขยายความกว้างของแม่น้ำ และป้องกันปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก, เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ป้องกันการเกิดปัญหาภัยแล้ง, เพื่อปรับภูมิทัศน์และแก้ไขปัญหาตลิ่งพัง, และเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกครอบครองพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำวัง

 “เรามีหน้าที่ดูแลรักษาฟื้นฟูแม่น้ำวังอยู่แล้ว ให้แม่น้ำมีสภาพรองรับน้ำได้ในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จากภารกิจหลักส่งผลให้ต้องมาดูแลในพื้นที่ของเทศบาลนครลำปาง เพราะจากที่เห็นสภาพน้ำตื้นเขิน การระบายน้ำช้า ซึ่งเห็นได้จากที่เกิดอุทกภัยปี 54 ทางอธิบดีกรมจึงมีนโยบายว่า อยากให้ขุดลอกในเขตเทศบาลก่อน ส่วนวัสดุที่ได้จากการขุดลอกได้มอบให้เทศบาลไว้ใช้ประโยชน์ในการทำผนังกันตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ”

นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2557 จะดำเนินการขุดลอกต่อเนื่องไปถึงแยกนาก่วม เป็นเส้นของสะพานข้ามถนนหลวงที่จะไปเชียงใหม่  เนื่องจากมีบริเวณถนนเลียบแม่น้ำวังจะเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงต้องเปิดพื้นที่บริเวณนั้นให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยระบายน้ำออกไปได้  ส่วนบริเวณน้ำตื้นเขินเหนือฝายยางได้พูดคุยกับนายกเทศมนตรีว่าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจ เพื่อวางแผนจัดสรรงบประมาณในปีต่อไป  เนื่องจากศูนย์ฯมีพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัดภาคเหนือ งบประมาณที่ได้รับจึงต้องกระจายกันไปในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน สำหรับที่ จ.ลำปาง เนื้อดินที่ขุดได้จะอยู่ที่ประมาณ 100,000-150,000 คิว งบประมาณ 2 ล้านบาท

เหตุที่แม่น้ำวังตื้นเขิน เนื่องจากไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตะกอนเกิดทับถมทุกปี ซึ่งเป็นตัวที่กีดขวางการระบายน้ำ  วิธีที่ดีที่สุดคือรักษาสภาพน้ำและขุดให้ลึกขึ้น  หากหน่วยงานท้องถิ่นมีงบประมาณก็สามารถยื่นขออนุญาตขุดลอกตามมาตารา 120 มายังศูนย์ฯได้  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 กล่าว

ด้านนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า สำหรับวัสดุที่ได้จากการขุดลอกในครั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะนำมาใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ และซ่อมแซมตลิ่งแม่น้ำวัง บริเวณสวนสาธารณะเขื่อนยาง(สนามบาสเก่า) เพื่อสร้างสนามเปตอง 20 ลู่ ให้แก่เทศบาลนครลำปาง ส่วนที่เหลือจากการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวแล้ว กรมเจ้าท่าจะมอบให้เทศบาลนครนำไปใช้ให้ให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมการพัฒนาที่ดีมีความสอดรับกับโครงการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำวัง ของเทศบาลนครลำปาง ที่ดำเนินงานในระยะแรกสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่งในช่วงเดือน มิ.ย.56 ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน  เทศบาลนครลำปางได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาแม่น้ำวัง ระยะที่สอง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปาง ในการแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสีย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนด ทิศทางการพัฒนาแม่น้ำวังอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ที่ห้องประชุมราชาวดี สำนักงานเทศบาลนครลำปาง โดยมีนายแพทย์สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรีเป็นประธาน  และนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ร่วมให้ข้อมูลประชุม จากนั้นได้มอบหมายให้ ม.ราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนต่อไป

นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยเก็บตัวอย่างน้ำทั้งหมด 8 สถานี รวมที่แม่น้ำจาง 4 สถานี พบมีปัญหาน้ำเน่าเสียรุนแรงในหน้าแล้งโดยเฉพาะในเขตตัวเมืองลำปาง แม่น้ำวังกลายเป็นบ่อน้ำทิ้งจากชุมชน ตลาดสด สถานประกอบการ และส่วนราชการในจังหวัดลำปางมากกว่า 80 จุด เมื่อไม่มีน้ำไหลตลอดปีเพื่อไล่น้ำเสียออกไป น้ำเสียจึงขังอยู่ในแม่น้ำวังยาวนาน ส่งผลให้แม่น้ำที่เคยเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของคนลำปางตกอยู่ในภาวะวิกฤต

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาแม่น้ำวัง พบว่า ต้นน้ำเริ่มตั้งแต่ อ.เมืองปาน แจ้ห่ม มีการตัดไม้ทำลายป่าสูงมาก เวลาฝนตกไม่มีป่าที่จะช่วยดูดซับน้ำ เกิดน้ำป่าไหลหลากชะเอาตะกอนดิน ของเสีย และสารเคมีจากการเกษตรในอำเภอกลางน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำวังทั้งหมด เข้ามาสู่เขตเมืองซึ่งมีวัชพืชขึ้นกีดขวางทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และเป็นที่กักน้ำเสียจากชุมชน ขณะที่ระบบน้ำเสียของเทศบาลนครลำปางไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาแม่น้ำวังจึงต้องแก้ทั้งระบบ เทศบาลนครลำปางจะจัดการอย่างไรกับตลาดสด หรือแม้แต่ส่วนราชการก็ไม่ได้รับการยกเว้น โดยเฉพาะเรือนจำ สถานีตำรวจ ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำวัง เรื่องนี้ต้องเปิดอกคุยกัน และมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
แต่ก่อนแม่น้ำวังจะมีน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงมีน้ำมาขับไล่น้ำเสีย แต่ตอนนี้ปริมาณน้ำมีอยู่จำกัด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องบริการจัดการการใช้น้ำให้เหมาะสมและเพียงพอ ขณะเดียวกันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งถูกดึงไปใช้ระหว่างทางโดยหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แทนที่จะไหลลงมาชะล้างของเสียในตัวเมือง เรื่องนี้ต้องนำมาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ด้านนายสุรชาติ ไพศาล  ฝ่ายจัดการคุณภาพน้ำ เทศบาลนครลำปาง  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาเทศบาลยังไม่เข้มงวดกับเรื่องนี้มากนัก แต่ปัจจุบันทางเทศบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาแม่น้ำวังระยะแรกไปแล้ว โดยการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่ง และล่าสุดได้มีการอบรมเครือข่ายเฝ้าระวังแม่น้ำ  การอบรมผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องส่งรายงานระบบบำบัดน้ำเสีย และจัดทำแผนพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำวัง ต่อจากนี้จะร่วมกับชาวบ้านตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณปากท่อน้ำทิ้งทุกจุด  หากพบว่าน้ำมีคุณภาพต่ำมากก็จะไล่สายท่อระบายน้ำซึ่งจะรู้ทันทีว่าน้ำเสียปล่อยลงมาจากที่ใดบ้าง และจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมเข้าดำเนินการต่อไป

  (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 942 วันที่ 13-19 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์