วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ยึดสถานีลำปาง ซ่อมราง รฟท.


เปิดศูนย์ใหญ่ที่ลำปางยกเครื่องรางรถไฟสายเหนือ  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยย้ำต้องไม่ตกรางอีก หากเกิดปัญหารถไฟตกรางในจุดที่ซ่อมแซมแล้ว ต้องรับผิดชอบร่วมกัน  เผยเตรียมเปลี่ยนหัวรถจักรและตู้โดยสารใหม่รองรับ ปีหน้าได้ใช้บริการแน่

การรถไฟแห่งประเทศไทย ปิดทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ยกเครื่องครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 นี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2556   รวมระยะเวลาการปิดนานถึง 45 วัน  หลังจากพบปัญหารถไฟตกรางถึง 10 ครั้งในรอบครึ่งปี  ซึ่งการรถไฟฯได้กำหนดให้ จ.ลำปาง เป็นสำนักงานใหญ่โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ โดยมีนายอัครวัฒน์ พวงสุกระวัฒนะ ผอ.ศูนย์บำรุงทางภาคเหนือ เป็นผู้อำนวยการโครงการ  นอกจากนั้นบริเวณสถานีรถไฟนครลำปาง จะเป็นชุดในการเชื่อมรางรถไฟ การขนถ่ายรางรถไฟและหมอนรองคอนกรีตไปยังจุดต่างๆในเขตภาคเหนือ  ซึ่งทางผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้เดินทางมาตรวจสอบการทำงาน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยทำงานให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารถไฟตกรางซ้ำอีกเด็ดขาดหลังจากที่มีการปรับปรุงแก้ไขทางรถไฟแล้ว

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 ก.ย.56 ที่ห้องประชุม กองบำรุงเขตลำปาง ฝ่ายช่างโยธาการรถไฟ อ.เมือง จ.ลำปาง นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (.ฟ.ท.) ได้เรียกประชุมทีมวิศวกร ผอ.หน.ส่วนแต่ละส่วนงานที่สังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย วิศวกรผู้รับผิดชอบจากบริษัทรับเหมาที่ได้รับรับสัมปทานในการซ่อมแซมสับเปลี่ยนรางรถไฟและไม้หมอนรถไฟเป็นหมอนคอนกรีต มาประชุมและสอบถามความคืบหน้ารวมทั้งอุปสรรค ปัญหาต่างๆในการเปลี่ยนซ่อมแซมในภาพรวมทั้งหมด   โดยมีนายสุประภาส เสนีวงศ์ ณ อยุธยา วิศวกร ใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย   นายอัครวัฒน์  พวงสุกระวัฒนะ ผอ.ศูนย์บำรุงทางภาคเหนือ  ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งพบว่าคณะวิศวกรไม่มีการแจ้งการดำเนินการที่ชัดเจนให้ประชาชนได้รับทราบ จึงได้สั่งการให้จัดทำแผนงานเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างเร่งด่วน  พร้อมกำชับว่าการปิดเส้นทางเพื่อซ่อมแซมรางรถไฟภายใน 45 วันนี้จะต้องซ่อมแซมให้ดีที่สุด หากจุดใดที่สภาพทางไม่ดีก็ต้องซ่อมแซม และเมื่อซ่อมแซมแล้วจะต้องไม่พบปัญหารถไฟตกรางอีก หากพบผู้ว่าการรถไฟฯ และคณะทำงานต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าเราแก้ปัญหาเพื่อประชาชนได้  จากนั้นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (.ฟ.ท.) พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจสอบโรงานผลิตและจุดจ่าย รางรถไฟ รวมทั้งหมอนรางรถไฟที่ทำมาจากคอนกรีต ที่ทยอยนำไปสับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟสายที่ปิดทำการคือเส้นทางรถไฟสายเหนือ จาก จ.อุตรดิตถ์ จนถึง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ทางส่วนที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการทำงาน ซึ่งต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าภายใน 45 วันที่ปิดซ่อมแซมจะทำอะไรบ้าง รวมทั้งต้องคิดถึงแผนรองรับหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ต้องควบคุมให้อยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด   ดังนั้นจึงได้กำชับให้เร่งไปแก้ไขและวางแผนการทำงานให้ชัดเจน  สำหรับการปิดทาง 45 วัน จะดำเนินการแก้ไขในจุดที่มีความเสี่ยงให้ดีที่สุด และเมื่อทำแล้วจะพบปัญหารถไฟตกรางในบริเวณนี้ไม่ได้อีกเด็ดขาด หากเกิดขึ้นจะต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯจะเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบ การลงพื้นที่ จ.ลำปาง เพื่อมาดูความเรียบร้อย เนื่องจาก จ.ลำปางเป็นจุดเก็บวัสดุและทำการเชื่อมราง ต่อไปนี้จะใช้รางเชื่อมยาวแบบเดียวกับรถไฟฟ้า  โดยนำรางเดิมที่มีขนาด 25 เมตร มาต่อกัน 7 ท่อน ยาว 175 เมตร ทางเป็นช่วงทางราบก็จะต่อยาวไปถึง 200 เมตร ซึ่งข้อดีก็คือจะลดการสั่นสะเทือนในการเดินรถ ผู้โดยสารจะนั่งสบายมากขึ้น  จากเดิมที่ใช้ตัวประกับต่อรางทำให้มีเสียงดังก็จะไม่พบปัญหานี้แล้ว  

ปัจจุบันนี้เหลือหัวรถจักรที่วิ่งได้อย่างมั่นใจเพียง 150 หัว  อายุเฉลี่ย 40 ปี  ซึ่งหัวรถจักรได้สั่งซื้อไปแล้ว 20 หัว และเซ็นสัญญาไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการผลิต ในปี 2557 น่าจะทยอยเข้ามาเริ่มใช้งาน จากนั้นจะนำเรื่องตู้โดยสารเข้าบอร์ด และซื้อหัวรถจักรเพิ่มอีก 50 หัว หากไม่ติดปัญหาเรื่องงบ 2 ล้านล้าน อีก 20 เดือนข้างหน้าก็จะมีตู้โดยสารมาให้บริการครบวงจร  รวมงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าว

นายสุประภาส เสนีวงศ์ ณ อยุธยา วิศวกร ใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า  ที่ จ.ลำปางเป็นสำนักงานใหญ่ของโครงการปรังปรุงทางรถไฟ  และเป็นศูนย์ฯดูแลการซ่อมแซมในช่วงปิดทางใน 45 วัน  แหล่งเก็บกองหมอน กองราง โรงเชื่อมราง เนื่องจากในทางตรงจะใช้รางเชื่อมยาวไม่มีหัวต่อราง  การทำงานจะทำการเปลี่ยนหมอนคอนกรีต เปลี่ยนราง 80 ปอนด์เป็น 100 ปอนด์  เปลี่ยนหินโรยทาง เพื่อปรับปรุงในช่วงที่เป็นทางเขาจาก บ้านด่าน จ.สุโขทัย กม.ที่ 500 จนถึง จ.ลำพูน กม.ที่ 720  รวมระยะทางประมาณ 220 กม.ซึ่งจะเป็นทางเขาที่มีโค้งแคบมีความลาดชันสูง ต้องปรับปรุงให้มีความปลอดภัยต่อการเดินรถ  โดยจุดที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนไม้หมอนคอนกรีตไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ คือบริเวณแม่จาง-ปางม่วง อ.ห้างฉัตร จากนั้นจะดำเนินการเปลี่ยนเป็นราง 100 ปอนด์   ส่วนตั้งแต่เขตปางม่วง-ทาชมพู ได้มีการเปลี่ยนหมอนคอนกรีตแล้วทั้งหมด ระยะทาง 30 ก.ม.และเปลี่ยนเป็นราง 100 ปอนด์ไปแล้ว 26 ก.ม. และเขตสถานีทาชมพู-ลำพูน เปลี่ยนหมอนรองคอนกรีตแล้วระยะทาง 30 ก.ม. แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนราง 100 ปอนด์

ทั้งนี้ การรถไฟฯมีโครงการพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 390 กม.อยู่ก่อนแล้ว เดิมทำโดยไม่ปิดทางจึงทำงานได้ช้า แต่ทางขึ้นเขาที่ลาดชันมีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจำเป็นต้องเร่งปรับปรุง จึงได้ปิดทาง 45 วันเปลี่ยนหมอนคอนกรีต และราง 100 ปอนด์เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ  ตอนนี้การรถไฟได้เร่งดำเนินการเปลี่ยนหมอนคอกรีตและรางในทุกเส้นทาง โดยทางสายตะวันออกเพิ่งเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา จะปรับปรุงช่วงคลอง 19 ไปถึงอรัญประเทศ ความยาวประมาณ 190 กม. และจากอรัญประเทศไปถึงปอยเปตอีกประมาณ 6 กม. ในปลายปี 58 ถึงต้นปี 59 รางรถไฟสายหลักทั่วประเทศก็จะเป็นหมอนรองคอนกรีตและราง 100 ปอนด์ทั้งหมด  เป็นงบประมาณที่ทางรัฐบาลมีนโยบายจะปรับปรุงการขนส่งระบบราง เนื่องมาจากราคาน้ำมันสูงขึ้น จึงปรับปรุงให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น  จากเดิมรับน้ำหนักกดเพลา 16 ตันจะเพิ่มเป็น 20 ตัน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ปัจจุบันมีความต้องการขนส่งทางรางค่อนข้างสูง

นอกจากนั้นจะมีงานทำอุโมงค์ 4 แห่ง คือ อุโมงค์ปางตูบขอบยาว 120 เมตร   อุโมงค์เขาพลึง  360 เมตร  อุโมงค์ห้วยแม่ลาน  130 เมตร และอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งยาวที่สุด 1,350 เมตร จะทำความสะอาดในอุโมงค์ให้หมด และเปลี่ยนหิน เปลี่ยนหมอนคอนกรีต และราง 100 ปอนด์ โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค. เนื่องจากช่วงแรกจะต้องใช้รถรางในการขนส่งหิน หมอนคอนกรีตต่างๆก่อน  ต้องทยอยส่งวัสดุให้เสร็จก่อนจึงจะปิดอุโมงค์ได้ วิศวกรใหญ่ กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 944 วันที่ 20-26 กันยากัน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์