วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอกชนลุ้นผู้ว่าฯใหม่ สานต่อ 3 ภารกิจ เมืองเซรามิค-เกษตรปลอดภัย-ศูนย์พลังงาน

ภาคเอกชนให้การบ้านผวจ.สานต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรับอาเซียน และยึดแนวทาง 3  ยุทธศาสตร์ เมืองเซรามิค  เกษตรปลอดภัยและศูนย์กลางพลังงาน ด้านผวจ.ระบุต้องถอดแบบจากพื้นฐานความเป็นจริงที่สมดุลไม่ใช่แค่ฝัน พร้อมดันลำปางเป็นนครแห่งความสุข

วันที่ 8 ต.ค. 2556 นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางประชุมร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดลำปาง ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง สมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง สมาคมเหมืองแร่ สมาคมไม้ สมาคมธุรกิจร้านอาหาร ชมรมธนาคาร รวมถึงตัวแทนจากปูนซิเมนต์ไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้เสนอให้พัฒนาการท่องเที่ยวเป็นช่องทางการทำรายได้หลัก เพราะการท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงถึงธุรกิจและรายได้เข้าจังหวัดได้ง่าย ขณะที่หอการค้าจังหวัดลำปาง โดยนายอนุวัฒน์ ภูวเศรษฐ ได้ฝากประเด็นในการพิจารณาสานต่อโครงการที่ทำไว้ในสมัยของผู้ว่าราชการจังหวัดคนเดิม  ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 คือ โครงการแลนด์โลจีสติก ศูนย์กลางขนส่งทางบกโดยเตรียมพื้นที่ราชพัสดุ อำเภอเกาะคารองรับการลงทุน  โครงการถนนเลี่ยงเมือง รองรับเส้นทาง R3A  โครงการผลักดันให้ลำปางเป็นศูนย์กลางพลังงาน (Energy Hub) ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีการวางท่อก๊าซและน้ำมันตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง มาถึงลำปางได้ นอกจากนี้ยังผลักดันโครงการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดชีวะมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้  และโรงไฟฟ้าชุมชน  รวมถึง โครงการอุตสาหกรรมสะอาด (Clean industry ) เพื่อรองรับการเอ่อล้นของอุตสาหกรรรมลำพูน

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ยุทธศาสตร์จังหวัดเดิม กำหนดให้ลำปาง มี 3 ยุทธศาสตร์ คือ เมืองเซรามิก (Ceramic city) แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และศูนย์กลางขนส่งทางบก (land logistic) นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการปลุกต้นฉำฉาเลี้ยงครั่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรายได้และเพื่อสิ่งแวดล้อม และซึ่งจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาผลักดันต่อ

ขณะที่สมาคมท่องเที่ยวนครลำปาง โดยนายธนา แก้วนิล เสนอในประเด็นของการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้มีจุดเด่นสร้างรายได้ รวมถึงการออกโร้ดโชว์ในประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และ ยังมีนักวิชาการอิสระ โดยนาง ศรีสุข นิลกรรณ เสนอให้มีการนำผลงานวิจัยของนักวิชาการทุกสถาบันที่ได้ทำไว้ มาเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีความเห็นว่า โครงการที่ทำได้เลย 3 โครงการ คือโครงการพลังงานชีวะมวล โครงการแลนด์โลจีสติก และโครงการส่งเสริมปลูกฉำฉาเลี้ยงครั่ง ส่วนเรื่องอื่นจะนำประเด็นทั้งหมด เข้าที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)เพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวอีกว่า จากที่เคยรับราชการที่จังหวัดลำปางเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การกลับมารับราชการในพื้นที่ลำปางครั้งนี้พบว่าลำปางมีความเจริญและเปลี่ยนแปลงไปหลายส่วน  เช่นการขยายความเจริญในเขตมีความชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาเดิมที่เคยมีอยู่ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาแก้ไข เช่นปัญหาในภาคอุตสาหกรรมเซรามิคก็ยังคงเป็นปัญหาเดิม ทั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนในที่ประชุมว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ลำปาง จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลวิจัยและพัฒนา  (R&D :The Research and Development) จากรากฐานที่แท้จริงว่าลำปางมีศักยภาพอะไรบ้างที่สามารถพัฒนาก้าวหน้าเป็นไปได้ ภายใต้งบฯยุทธศาสตร์ ที่ได้เท่ากัน 200 ล้านบาททุกจังหวัดให้คุมค่าและเกิดผล ไม่ใช่แค่ฝันแต่ทำไม่สำเร็จ

“ผมมองว่ายุทธศาสตร์ ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่ใช่แค่กำหนดตามความฝัน ผมจำได้ว่าภาคเหนือตอนล่างเคยกำหนดยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีนช่วงพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ แต่จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 20 ปีก็ยังเป็นสี่แยกที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นรูปธรรม เมื่อมองในส่วนของลำปางนั้นผมยังมองว่า ลำปางไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม หากอยู่ดีๆจะเอาอุตสาหกรรมมาตั้ง มันไม่ใช่ เพราะนอกจากจะมองเรื่องวัตถุดิบแล้ว ยังต้อง เตรียมระบบและปัจจัยผันแปรอื่นๆ ดังนั้นต้องถอดแบบ ว่าจริงๆแล้ว ลำปางเป็นอย่างไรและเมืองที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่น่าอยู่อย่างเช่นศิลปะล้านนาในวัดไทยและพม่าที่โดดเด่น ผมมีความตั้งใจว่า อยากพัฒนาในแต่ละส่วนให้สมดุลเป็น "นครแห่งความสุข" เช่นเดียวกับ ประเทศ เวียดนาม พม่า ลาว เมื่อจะเข้า AEC แล้ว แต่วิถีชีวิตของประชาชนยังเหมือนเดิม”

ในส่วนของการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในเรื่องธุรกิจหรืออุตสาหกรรมก็ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด มีการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ทิศเหนือ กับเชียงใหม่ ทางทิศใต้ เชื่อมโยงกับตากและชายแดนแม่สอด และพื้นที่เชื่อมโยงกับเส้นทาง R3A ที่จะตัดผ่านจากสะพานมิตรภาพไทยลาว ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายโซนนิ่งเกษตร อาจจะต้องดูว่า สินค้าเกษตรในเขตโซนนิ่งจะเชื่อมโยงอย่างไร ทำตลาดอย่างไร สินค้าและอุตสาหกรรมรวมถึงการท่องเที่ยวของลำปางต้องการรายได้เท่าไหร่ โดยต้องศึกษา และออกแบบยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างจังหวัดกับภาคเอกชนอีกครั้งเพื่อกำหนดแนวทางใหม่ที่ชัดเจน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 947 วันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์