วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ไทยรีเฟอร์โกบิ๊ก เสนอผลงานยุ่น


ไทยรีเฟอร์โกอินเตอร์ เตรียมนำเสนอผลงานที่ประเทศญี่ปุ่น  เล็งเปิด AEC ปี 58 ส่งโปรแกรมใช้ข้ามประเทศ ลาว พม่ารอรับ

หลังจากที่โรงพยาบาลลำปางประสบผลสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรม ไทยรีเฟอร์ ประจำที่ห้องฉุกเฉิน ใช้ส่งต่อผู้ป่วยหนัก/ฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ส่งภาพผู้ป่วย ข้อมูลประวัติ ผลแล็ปออนไลน์ หรือ ผ่านทางสมาร์ทโฟน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตรียมการรักษารอที่ห้องฉุกเฉินก่อนผู้ป่วยไปถึง ไม่ต้องตรวจแล็ปใหม่ มีระบบติดตามพิกัดรถฉุกเฉิน ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รวดเร็ว ลดอัตราเสียชีวิต ขณะนี้นำมาใช้แล้ว 52 จังหวัด 726 โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน พบได้ผลดี วางแผนประยุกต์ใช้รองรับกรณีภัยพิบัติ ช่วยบริหารจัดการคล่องตัว  ล่าสุดโรงพยาบาลลำปางได้เตรียมนำเสนอผลงานของโปรแกรมไทยรีเฟอร์ออกสู่ต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ จ.ลำปางและประเทศไทย ลานนาโพสต์จึงได้ติดตามเรื่องราวความเป็นมาของไทยรีเฟอร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

นายธีรินทร์  เกตุวิชิต หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ โรงพยาบาลลำปาง ผู้ริเริ่มโปรแรมไทยรีเฟอร์  เปิดเผยว่า โปรแกรมไทยรีเฟอร์ได้เริ่มขึ้นในชื่อของลำปางรีเฟอร์ลิ้ง เมื่อปี 2553  โดยเกิดจากความตั้งใจของตนและเพื่อนที่อยากทำบุญ เพราะเคยเจอเคสคนไข้รายหนึ่งที่ส่งต่อมาจาก อ.แจ้ห่ม เมื่อทางแพทย์ รพ.ลำปางขอข้อมูลกลับไม่มีใครตอบได้ มีเพียงการวินิจฉัยของแพทย์จาก รพ.แจ้ห่มเขียนมานิดหน่อยเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าประวัติคนไข้มาก่อน ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องและคนไข้รายนั้นได้เสียชีวิตลง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำโปรแกรมนี้ขึ้น ซึ่งพยายามหาซอฟแวร์ในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีที่สามารถตอบโจทย์ของเราได้ จึงเขียนขึ้นใหม่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีอีก 2 คนช่วยกัน  ซึ่งในตอนแรกมีอุปสรรคในการทำงานคือ ทางแพทย์และพยาบาลหลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ จึงไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่จะต้องมาปรับใช้กับผู้ทำงานจริง  แต่ยังโชคดีที่พบแพทย์และพยาบาลใจดีเข้ามาช่วยเหลือ จึงเกิดโปรแกรมขึ้นมาได้

ก่อนที่จะนำมาใช้งานจริงนั้น ทางผู้บริหารโรงพยาบาลก็ไม่ทราบว่ามีโปรแกรมนี้  ซึ่งผมได้มีการติดต่อเพื่อขอเข้าพบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เพื่อขอโอกาสให้ไปนำเสนอผลงาน ต้องเดินเรื่องถึง 9 ครั้งกว่าจะได้เข้าพบ เมื่อได้นำเสนอผ่านไปอีก 2 วัน ทางสาธารณสุขได้เรียกประชุม ผอ.โรงพยาบาลทั้งจังหวัดให้เข้ามารับฟังการนำเสนอโปรแกรมของผม และให้เริ่มติดตั้งภายใน 2 สัปดาห์  จากนั้นทุก 3 เดือนได้มีการติดตามผลการทำงาน พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

นายธีรินทร์ กล่าวต่อไปว่า  โปรแกรมนี้ได้มีการพัฒนาขึ้น โดยร่วมมือกันระหว่างฝ่ายคอมพิวเตอร์ กับแพทย์และพยาบาลผู้ใช้งาน รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ใช้เวลา 2 ปีกว่าในการพัฒนาเรื่อยมา โดยพยายามลดความซับซ้อนให้แก่ผู้ใช้งาน ให้ทำงานได้เร็วที่สุด หรือที่เรียกว่า One Click  กดแค่ครั้งเดียวได้ข้อมูลทั้งหมด  ซึ่งเห็นว่าทุกห้องในโรงพยาบาลมีการทำข้อมูลพื้นฐานของคนไข้อยู่แล้ว จึงได้รวบรวมข้อมูลที่แพทย์และพยาบาลต้องการทราบ ประวัติการรักษาทั้งหมดมาบรรจุไว้ในโปรแกรม  แต่ทั้งนี้เราต้องอ้างอิงตาม พ.ร.บ.ข่าวสาร และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ จึงต้องศึกษาตัวกฎหมายมากพอสมควรในการดำเนินการ จนในเดือนกรกฎาคมปี 2555 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทยรีเฟอร์ เนื่องจากมีโรงพยาบาลต่างจังหวัดหลายแห่งสนใจเข้ามาดูงานและนำโปรแกรมไปใช้ จนปัจจุบันมีการใช้งานแล้วใน 52 จังหวัด 726 โรงพยาบาล

“เราจะไม่นำโปรแกรมไปเสนอขาย แต่จะให้เฉพาะคนที่มีความต้องการจริงๆ เพราะเขาจะเห็นคุณค่าในการใช้งานมากกว่า  ส่วนใหญ่โรงพยาบาลต่างๆก็จะเข้ามาศึกษาดูงานเอง หากเห็นว่าใช้กับงานของเขาได้ก็จะเชิญเราไปติดตั้ง หลังจากติดตั้งก็จะมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าติดตามผล ซึ่งพบว่าทุกแห่งที่ได้รับการติดตั้งโปรแกรมไทยรีเฟอร์ของเรามีความสุขกับการใช้งานอย่างมาก และเป็นที่ภาคภูมิใจของผมอย่างที่สุดว่า การทำงานด้วยโปรแกรมไทยรีเฟอร์ ทำให้มีคนไข้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์”  ผู้ริเริ่มโปรแกรมฯ กล่าว

นอกจากนี้โรงพยาบาลลำปางยังได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน THAILAND ICT AWARD 2013 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยได้มีการนำเสนอการทำงานของโปรแกรมไทยรีเฟอร์ ที่เป็นการทำงานโดยจิตอาสา ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้เข้าร่วมงานต่างตกใจว่าเราสามารถทำได้อย่างไร เพราะส่วนใหญ่การทำโปรแกรมต่างๆจะออกมาในเชิงของธุรกิจ แต่ของเราไม่มีการใช้ทุน ใช้งานภายในจังหวัด มีมาร์เกตแชร์คือผู้ใช้งาน จึงทำให้เราติด 1 ใน 4  และตอนนี้กำลังจับมือกับบริษัททรูคอปเปอร์เรชั่น ในการขอใช้ซิมการ์ดและส่งข้อความฟรี เพื่อส่งให้แพทย์ปลายทาง กรณีผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งจะสามารถส่งภาพทางไลน์ อีเมล์ เพราะในส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายมาก จึงขอให้ทรูเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยทางทรูได้รับหลักการแล้ว และจะส่งซิมการ์ดเข้ามาให้ ทางเราได้ขอไปทั้งหมด 27 ซิม เพื่อใช้ในรถรีเฟอร์ทุกคัน

ทราบข่าวว่าจะไปนำเสนอโปรแกรมไทยรีเฟอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น   นายธีรินทร์  กล่าวว่า  เราได้ส่งเรื่องเข้าไปให้ทางญี่ปุ่นอนุมัติรับเรื่องเข้าไป  งานนี้จะเป็นการนำเสนองานที่โรงพยาบาลของประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินโดยตรง ซึ่งสิ่งที่จะไปนำเสนอในโปรแกรมของเราจะเน้นเรื่องเวลาในการทำงานของแพทย์-พยาบาล ใช้เวลาส่งคนไข้จากต้นทาง-ปลายทางกี่นาที  เราไม่ได้หวังว่าจะได้รางวัล หวังให้ต่างประเทศได้รับทราบว่าประเทศไทยมีโปรแกรมดีๆแบบนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมามีใช้แต่ในประเทศอังกฤษ และอเมริกา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหากต่างประเทศสนใจติดตั้งโปรแกรมนี้เป็นไปได้หรือไม่  นายธีรินทร์ กล่าวว่า  ตอนนี้กำลังรอเปิด AEC  โดยจะได้มีการพัฒนาโปรแกรมไปสู่ระดับอาเซียน  ซึ่งทราบว่ามีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า ให้ความสนใจ เนื่องจากมีเขตติดต่อกับประเทศไทยและส่งต่อคนไข้กันอยู่แล้ว แต่ยังติดในเรื่องกฎหมายทางข้อมูลที่ยังต้องปรึกษาหารือกับทางผู้ใหญ่อยู่ ต้องรอปี 2558 คาดว่าจะดำเนินการได้
   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 947 วันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์