วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โวยอพยพไม่คืบ คนห้วยคิงขีดเส้นตอบ ต.ค. นี้


ชาวบ้านห้วยคิงโวยอพยพไม่คืบ รวมตัวประท้วงขอคำตอบ ขีดเส้นตายภายในเดือนตุลาคม พร้อมขู่ไม่ให้ กฟผ.จัดงานเทศกาลท่องเที่ยว หากไม่ได้รับการพิจารณา  ด้านนายอำเภอแม่เมาะ พาตัวแทนชาวบ้านเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี จี้ขอคำตอบโดยตรง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.56 ที่บริเวณสามแยกบ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ชาวบ้าน 5 หมู่บ้านใน 2 ตำบล กว่า 1,000 คน ได้มารวมตัวชุมนุมติดป้ายประท้วงและตั้งเวทีปราศรัย เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการขออพยพชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ บ้านหัวฝาย ม.1 ต.บ้านดง  บ้านสวนป่าแม่เมาะ ม.7 ต.บ้านดง บ้านดง ม.2 ต.บ้านดง และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง ม.8 ต.บ้านดง จำนวน 1,458 ครัวเรือน ออกนอกพื้นที่ โดยชาวบ้านทั้งหมดได้แจ้งขออพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2552 แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนรัฐมนตรีที่มาดูแลเรื่องนี้หลายคนแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทุกคนจึงได้รวมตัวกันมาชุมนุมและเรียกให้นายอำเภอแม่เมาะ พลังงานจังหวัดลำปางและ กฟผ. ออกมาให้คำตอบและความชัดเจน ในเรื่องดังกล่าว

นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยคิง กล่าวว่า  การมาชุมนุมของชาวบ้านไม่ได้ต้องการมาเรียกร้องหรือจะปิดถนนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ใช้ถนนแต่อย่างใด แต่ทุกคนมาชุมนุมแบบสงบและต้องการความชัดเจนเรื่องการอพยพชาวบ้านที่ประสงค์จะย้ายออกนอกพื้นที่ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เนื่องจากมีการผัดวันประกันพรุ่งมาหลายครั้งหลายปี ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังคงได้รับผลกระทบ ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้กลัวโรงไฟฟ้าแต่กลัวสารพิษ ควัน กลิ่น ที่ยังคงมีให้เห็นหลังมีการนำขี้เถ้ามาทิ้งและเกิดการสันดาบด้านล่างจนเกิดการเผาไหม้ดินด้านล่างยุบตัวลง ส่งกลิ่นควันคละคลุ้งลอยมากับอากาศชาวบ้านที่อยู่โดยรอบได้รับผลกระทบ จึงต้องการให้เร่งอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ แต่ทุกอย่างก็ไม่มีความคืบหน้า จึงได้เชิญนายอำเภอแม่เมาะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนทางชาวบ้านจะได้มีรวมตัวกันอีกครั้ง

ต่อมา นายนรินทร์ วรรรณมหินต์ นายอำเภอแม่เมาะ และนายสมจิตร์ จูลเจริญ ปลัดอาวุโส อำเภอแม่เมาะ ได้ชึ้นกล่าวและพบปะกับชาวบ้าน โดยนายอำเภอแม่เมาะได้ระบุว่า เรื่องการขออพยพนั้นขณะนี้เรื่องทั้งหมดได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานและอยู่ระหว่างการนำเสนอให้ ครม.พิจารณาแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ชาวบ้านใจเย็นๆ โดยที่ราชการไม่ได้นิ่งนอนใจ และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจในการที่จะเร่งแก้ไขปัญหา จึงให้ทั้ง 5 หมู่บ้านเลือกตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คน เพื่อเดินทางไปพร้อมคณะ  ซึ่งจะประกอบด้วยนายอำเภอแม่เมาะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทน กฟผ.แม่เมาะ และตัวแทนชาวบ้าน เข้าพบรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้ ในวันที่ 10 ต.ค.56 โดยการชี้แจงดังกล่าวทางแกนนำ และชาวบ้านต่างพอใจและได้ปิดเวทีปราศรัยและให้ทุกคนแยกย้ายกลับพร้อมกับให้แต่ละหมู่บ้านนำป้ายประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวไปติดตามพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชานได้รับรู้   ทั้งนี้ แกนนำชาวบ้านได้ระบุว่าหากภายในเดือนตุลาคมยังไม่มีความชัดเจนใดๆ และเรื่องของชาวบ้านยังไม่ได้รับการพิจารณา ทางชาวบ้านจะรวมตัวกันชุมนุมประท้วงปิดถนน และจะไม่ให้ กฟผ.จัดงานท่องเที่ยวแม่เมาะอย่างแน่นอน  ซึ่ง กฟผ.แม่เมาะ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย.56 นี้

สำหรับชาวบ้านห้วยคิง หมู่ เคยได้ปิดถนนบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยคิงเส้นทางขาออกโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เมื่อวันที่ 11-13 มี.ค.56 ที่ผ่านมา นานถึง 3 วัน เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปเมื่อปี 2552  จำนวน  3 ข้อ คือ  1.ให้ กฟผ.อพยพชาวบ้านทั้งหมดออกจากพื้นที่เดิม เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี โดยพื้นที่นั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ และต้องอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า และเหมืองแม่เมาะมากกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งระยะเวลาการอพยพจะเริ่มนับตั้งแต่การนำเรื่องการอพยพของชาวบ้านห้วยคิงที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ   2. ในระหว่างที่อยู่ในช่วงรอการอพยพให้ กฟผ.พิจารณาความช่วยเหลือสนับสนุน และดำเนินการในเรื่องโครงการพัฒนา และส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านตามที่ชาวบ้านมีความประสงค์   และ 3.ถ้า กฟผ. ไม่สามารถอพยพชาวบ้านภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 ปีขอให้ กฟผ.พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณพัฒนาหมู่บ้านห้วยคิงเป็นกรณีพิเศษ  แต่ปรากฏว่าผ่านมานานกว่า 3 ปีครึ่งแล้ว ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการอพยพและทำตามข้อเสนอแม้แต่เรื่องเดียวจึงรวมตัวกันปิดถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิอีกครั้ง และขอทราบผลภายในเดือน ต.ค.นี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 947 วันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์