วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ส่องเศรษฐกิจบ่อแก้วเมืองลาว ลำปางยังต้องปรับขบวน


หลังจากกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เริ่มขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือของไทยตื่นตัวกันมากขึ้น สังเกตได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของทุกจังหวัดที่อยู่ในข่ายเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญๆ ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศคือ ไทย จีน (มณฑลยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ตามโครงการ GMS Economic Corridorsระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" เป็นจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางเศรษฐกิจ R3A ซึ่งเส้นทางนี้เชื่อมจากประเทศไทย (อ.เชียงของ จ.เชียงราย) เข้าบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (สปป. ลาว) ทะลุสิบสองปันนา เชียงรุ่ง คุนหมิง (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการค้า การลงทุน ในภูมิภาคนี้ และ เป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมจีนและอาเซียนเข้าด้วยกัน 

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกลุ่มเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพแรงงานระหว่างประเทศไทย-ลาว โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน เมื่อวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา  ณ ที่ทำการแรงงานบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้มีการพบปะหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) กับเจ้าหน้าที่ระดับบริหารและหน่วยงานรัฐแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  ถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานและการพัฒนาศักยภาพแรงงานระหว่างกันเป็นครั้งแรก ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเชื่อมความสัมพันธ์ใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง

นายพหล พรมปัญญา หัวหน้าฝ่ายแรงงาน แขวงบ่อแก้ว เผยว่า แขวงบ่อแก้วเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรหลายเผ่า เช่น ลาว ลื้อ ยวน ไต (ไทใหญ่) ม้ง ขะมุ ฯลฯ มีแนวเขตติดต่อกับ อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ประเทศไทย ในฝั่งลาวติดกับแขวงหลวงน้ำทา แขวงอุดมไชย และ ติดกับรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่าเรือพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศ ที่บ้านห้วยทราย ส่วนสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมซึ่งนักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนค่อนข้างมากทั้งยางพารา กล้วยหอม ฯลฯ
"ความต้องการการสนับสนุนและเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและแรงงานเพื่อตอบสนองการไหลเวียนของเศรษฐกิจอาเซียน หลากหลายด้าน ขณะนี้แขวงบ่อแก้วมีการปลูกยางพารามากแต่ยังขาดทักษะเกี่ยวกับการกรีดยางรวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา นอกจากนี้ ยังมีความต้องการพัฒนาศักยภาพฝีมือและอาชีพการตัดเย็บแบบสากล อีกทั้งยังต้องการพัฒนาศักยภาพที่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะหากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่เชียงของ และเส้นทาง R3A เปิดใช้ โดยสมบูรณ์จะมีการไหลของธุรกิจและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในระยะ3-5 ปีนี้"

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีข้อสรุปแลกเปลี่ยนกันในแนวทางให้การสนับสนุนพัฒนาฝึกอบรมแรงงานให้กับแขวงบ่อแก้ว โดยนำบุคคลากรที่คัดเลือกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฝึกวิชาชีพในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาฝึกอบรมไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน โดยผู้ผ่านการฝึกอบรม จะนำความรู้ไปฝึกให้กับแรงงานในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสำรวจพื้นที่ในเขตท่าเรือบ้านห้วยทราย และเขตเศรษฐกิจแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว พบว่า มีท่าเรือบ้านห้วยทรายมีการขนส่งสินค้าค่อนข้างคึกคัก นอกจากนี้ยังมี รถยนต์ส่วนบุคคลจากประเทศจีนขนส่งทางเรือข้ามมาเที่ยวภายในแขวงบ่อแก้ว และบางส่วนข้ามฟากมายังท่าเรือฝั่งไทยบางส่วน ขณะที่ธุรกิจโรงแรม ที่พักและบริการนำเที่ยวทั้งสองฝั่งค่อนข้างคึกคัก โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวจีน ในตัวเมืองห้วยทรายเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ และมีโครงการก่อสร้างถนนที่เชื่อมต่อ เส้นทาง R3A ทุกสาย

จุดที่น่าในใจคือพื้นที่เศรษฐกิจใหม่หลายแห่งของแขวงบ่อแก้ว

ห่างจากท่าเรือเข้าไปประมาณ 50-70 กม. เริ่มมีนายทุนจีนและไทย เข้าไปลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ไชน่าทาง พระราชวังจำลอง และบ่อนคาสิโนบ้านเดอะคิงโรมัน (The Kings Romans Casino Hotel) ตั้งอยู่ที่เกาะดอนซาว เมืองต้นผึ้ง ฝั่งตรงข้ามกับเชียงแสนฝั่งไทย และโครงการนาคราชนครของนักลงทุนไทย ที่ดำเนินการโดยบริษัท เอเอซี กรุ๊ป จำกัด กำลังพัฒนาพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ซึ่งได้รับสัมปทานมาจากรัฐบาล สปป.ลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมหรูหรา ท่ามกลางความสงบของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังรักษาไว้

เมื่อมองกลับมายังลำปาง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคเหนือที่มีถนนเชื่อมโยงทุกจังหวัดที่เป็นเมือง ชายแดนไทย ลาว พม่า และเส้นทาง R3A ตัดผ่านลำปาง ไปสู่กรุงเทพฯ ยังเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการไหลเข้ามาของนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามากับเส้นทางสายเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงดังกล่าว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของประเทศนับเป็นจุดเริ่มที่ดีในการเรียนรู้แบบรู้เขารู้เรา เมื่อเส้นทางเศรษฐกิจพาดผ่านมาถึงการไขว่คว้าหาโอกาสที่ตรงตามความต้องการตลาดที่แม่นยำ การสร้างจุดเด่นให้มีแรงดึงดูดมากพอเป็นเป้าหมายสำคัญที่หน่วยงานรัฐและเอกชนต้องรวมมือกันลงมือทำ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 946 วันที่ 4 - 10 ตุลาคม 2556)                                                             
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์