วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผ่าตัดสองชั่วโมง ไม้แทงงวง ช่วยชีวิตช้างน้อย



สัตวแพทย์ โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ร่วมกับสัตวแพทย์ มช. ช่วยชีวิตช้างน้อยผ่าตัดงวงช้าง เพื่อนำเศษไม้ยาวกว่า 50 เซนติเมตร ปักลึกเข้าไปในงวงออกมาได้สำเร็จ

วันที่ 10 ต.ค.56 ที่โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  สถาบันคชบาลแห่งชาติ  ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง สัตวแพทย์ โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นำโดย น.สพ.ทวีโภค อังควานิช  พร้อมด้วย น.สพ.ดร. วรพัฒน์ ประชาศิลป์ชัย  สัตว์แพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่าตัดเอาไม้ที่ปักลึกเข้าไปในงวงช้าง ซึ่งเป็นลูกช้างวัย 7 ปี  ชื่อพังบางแก้ว เป็นช้างของนายจอบุดี  อธิระชนะบัญชา  อายุ 45 ปี  บ้านเลขที่  69  หมู่ 4 บ้านแม่จูมสาม  ต.แม่สึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ช้างน้อยซุกซนวิ่งเล่นไปทั่วอีกทั้งใช้งวงกวัดแกว่งไปมา จนกระทั่งช้างมีอาการยกงวงไม่ขึ้น  กินอาหารและน้ำลำบาก  เป่าลมออกจากงวงบ่อยๆ และงวงมีลักษณะบวม เจ้าของช้างสงสัยว่าอาจจะถูกงูกัดที่งวง   จึงแจ้งทีมสัตวแพทย์เข้าไปตรวจและได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด  

น.สพ.ทวีโภค  เปิดเผยว่า เบื้องต้น สัตวแพทย์ได้ใช้กล้องส่องตรวจอวัยวะ (เอ็นโดสโคป ) ส่องจากปลายงวง   เข้าไปที่งวงช้างด้านซ้าย ร่วมกับเครื่องอัลตร้าซาวด์ และเครื่องเอ็กซเรย์ ที่ความลึก 65 ซ.ม. มีเศษไม้เสียบคาแน่นอยู่ ไม่สามารถใช้คีมปลายแหลมขนาดยาวพิเศษในการช่วยดึงออกได้  จึงเร่งนำตัวช้างมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลช้างแห่งนี้ หลังมาถึงได้ทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและเอ็กซเรย์ จุดที่พบเศษไม้อีกครั้ง จากนั้นจึงเริ่มลงมือผ่าตัดทันทีเพื่อเร่งช่วยชีวิตช้างโดยการวางยาซึมให้ช้างยืนหลับ  ในการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง พบเศษไม้ในงวงมีความยาวทั้งสิ้น 55 ซ.ม. และหักเป็นสามท่อน  ท่อนแรกยาว 28 ซ.ม. , ท่อนที่สองยาว 10 ซ.ม. ,ท่อนที่สาม ยาว 17 ซ.ม. อยู่ภายในงวง และสามารถนำเศษไม้ทั้งสามท่อนออกมาได้สำเร็จ ซึ่งสร้างความดีใจแก่ทีมงานและเจ้าของช้างเป็นอย่างมาก

สำหรับแนวทางการรักษาบาดแผล สัตวแพทย์ได้ทำความสะอาดและรักษาแผลเปิด ไม่สามารถเย็บปิดแผลที่งวงช้างได้ เนื่องจากช้างขยับงวง เคลื่อนไหวตลอดเวลา   จึงได้ฉีดยาปฎิชีวนะ ควบคุมการติดเชื้อ พร้อมกับให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และให้สารอาหารทางเส้นเลือดดำที่ใบหู หลังการผ่าตัด  ช้างตอบสนองต่อการรักษาที่ดี  และคาดว่า ต้องใช้การรักษาไม่น้อยกว่า 1 เดือน กว่าที่บาดแผลจะปิดสนิท การผ่าตัดครั้งนี้ประสพผลสำเร็จเป็นอย่างดี ประกอบกับ ช้างอายุน้อย และสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง  ทำให้ฟื้นจากการเจ็บป่วยเป็นไปได้ด้วยดี ในการดำเนินการครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ช่วยในการวินิจฉัย และได้รับความร่วมมือ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาช่วยปฏิบัติงานในครั้งนี้ด้วย  น.สพ.โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย กล่าว.


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 947 วันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2556)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์