สายลมหนาวเดินทางมาถึงบ้านเราแล้ว หลายคนจับความรู้สึกได้
เมื่อแหงนมองท้องฟ้า เมฆยักษ์อย่าง “คิวมูโลนิมบัส” รูปร่างคล้ายทั่งตีเหล็กสีดำทะมึน อันทำให้เกิดฝนตกหนัก ฟ้าร้องฟ้าแลบ
มลายหายไป หลงเหลือไว้แต่ท้องฟ้าสีน้ำเงิน
สำหรับนักดูนก
ท้องฟ้ายามเย็นที่แดดร่มลมตกเป็นช่วงเวลาที่จะได้เห็นนกนางแอ่นบ้านบินฉวัดเฉวียนไปมาอยู่กลางอากาศ
บ่งบอกสัญญาณว่าฤดูกาลแห่งการอพยพย้ายถิ่นเริ่มขึ้นแล้ว เริ่มพร้อม ๆ
กับสายลมหนาวที่กำลังเดินทางมา
เหล่านกนางแอ่นบ้านพากันอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาว
เพื่อหลีกหนีอากาศอันหนาวเหน็บ สภาวะขาดแคลนอาหาร และช่วงเวลากลางวันที่สั้นลง ณ
ถิ่นสร้างรังเลี้ยงลูกทางตอนเหนือของทวีป มาพักพิงชั่วคราวในประเทศไทยเฉพาะช่วงฤดูหนาวเท่านั้น
สมัยที่ทางการยังไม่ได้นำสายไฟริมถนนสีลม กรุงเทพฯ ลงใต้ดิน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเคยนับประชากรนกนางแอ่นบ้านที่มาเกาะสายไฟนอนบริเวณนั้นได้กว่า
270,000 ตัว ในเวลาเช้า
พวกมันจะแยกย้ายกันออกไปหากินไกลถึงชานเมือง บางตัวเดินทางไป-กลับถึงวันละ 60
กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม นอกจากถนนสีลม ซึ่งเป็นที่จดจำถึงความมหาศาลของประชากรนกนางแอ่นบ้านในอดีต
ใครที่เคยไปจังหวัดน่านก็คงรู้ดีว่า ที่นั่นก็เป็นแหล่งพักพิงของนกชนิดนี้ด้วย ซึ่งเดิมทีชาวเมืองกับนกต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป
แม้นกจะขี้ใส่รถ ใส่หัวคนบ้าง บางคนก็แค่จอดรถแล้วเอาหนังสือพิมพ์คลุมรถไว้
เท่านี้ก็ไม่เป็นปัญหา
ปีนี้ได้ข่าวว่านกนางแอ่นบ้านมาถึงเมืองน่านเร็วกว่าทุกปี
แค่เดือนสิงหาคมก็เกาะกับพรึ่บเต็มสายไฟแล้ว แม้จะทำให้เกิดความรำคาญอยู่บ้าง
แต่นกนางแอ่นบ้านก็ทำประโยชน์มากมาย โดยมันอาจกำจัดแมลงให้เราได้ถึงวันละ 2,000-3,000
ตัวเลยทีเดียว ทว่าดูเหมือนทางจังหวัดจะไม่เห็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่น่านกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว
ก็มีการจัดรถคอยไล่นกที่มาเกาะตามสายไฟทุกคืน
นกนางแอ่นบ้านในตัวเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่อำเภอเวียงสาบ้าง อำเภอปัวบ้าง
จนทางอำเภอปัวก็ต้องจัดรถพ่นควันตระเวนไล่นกด้วยเหมือนกัน
ดูเหมือนการที่นกนางแอ่นบ้านเพียรช่วยจำกัดจำนวนแมลงไม่ให้มีมากจนเกินสมดุล
ก็ไม่ได้ทำให้คนเห็นความดีของมันเลย
หันกลับมาดูเมืองลำปางบ้าง ตามสายไฟบ้านเราก็ใช่ว่าจะเงียบเหงา
ทุกวันตอนย่ำค่ำ บริเวณศาลหลักเมืองเรื่อยไปจนถึงห้าแยกประตูชัย
ก็ตะเบ็งเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงของบรรดานกเอี้ยงสาริกากับนกเอี้ยงหงอน จนต้องยอมรับว่าทรมานโสตประสาทอยู่เหมือนกัน
นกเอี้ยงสาริกาดูเหมือนจะเป็นนกที่เราคุ้นเคยไม่แพ้นกกระจอกบ้าน
และคงเป็นเพื่อนซี้กับนกเอี้ยงหงอน เพราะมักพบเห็นมันหากินอยู่ด้วยกันเสมอ
แต่นกเอี้ยงสาริกาตัวจะสีน้ำตาล ส่วนหัวเข้มเกือบดำ มีหนังรอบตาสีเหลือง ต่างจากนกเอี้ยงหงอนที่มีขนสีดำทั้งตัวและมีหงอนบนหัวตั้งโดดเด่น
นกเอี้ยงสาริกาปรับตัวเก่ง ชอบกระโดดหย็องแหย็งหากินอยู่ตามพื้น เพราะพวกนกเอี้ยงเหล่านี้มีแข้งและตีนแข็งแรง
จึงเดินบนพื้นดินได้คล่อง แถมยังชอบรวมกันอยู่เป็นฝูงและส่งเสียงดัง
มันกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่น้ำหวานจากดอกไม้ไปจนถึงเศษอาหารของคน แต่สำหรับนกเอี้ยงสาริกา
ไม่ว่าจะบินไปหากินไกลแค่ไหน พอตกเย็นจะต้องหาที่เล่นน้ำ
เพราะมันเป็นนกที่ชอบอาบน้ำแต่งตัวก่อนเข้านอนเสมอ
ส่วนนกเอี้ยงหงอนก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกัน ภายหลังจากที่แยกย้ายกันออกไปหากินทั้งวันแล้ว
ตอนเย็นจะต้องกลับมารวมฝูงกับนกเอี้ยงสาริกา พร้อมกับแก่งแย่งหาที่เหมาะ ๆ เกาะพัก
ส่งเสียงเซ็งแซ่ จนมืดค่ำนั่นแหละจึงค่อยเงียบลง พื้นเบื้องล่างยังเกลื่อนไปด้วยขี้ขาว
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าคนทุกคนคิดเหมือนกัน คือคิดว่าโลกใบนี้ไม่ใช่ของคน
ไม่ใช่ของใคร แต่มีอีกหลายชีวิตที่มีสิทธิ์จะใช้พื้นที่ด้วยอย่างเท่าเทียม
ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่งในป่าแม่วงก์ นกนางแอ่นบ้านเมืองน่าน
หรือนกเอี้ยงสาริกาเมืองลำปาง
ว่าแต่เมืองน่านยังดีตรงที่นกนางแอ่นบ้านนั้นเป็นนกอพยพ
ซึ่งมาอาศัยอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนเมืองลำปาง นกเอี้ยงสาริกากับนกเอี้ยงหงอนต่างก็เป็นนกประจำถิ่นด้วยกันทั้งคู่
นั่นหมายความว่า พวกมันจะปักหลักอยู่กับเราไปตลอดทั้งปี
เรียกว่าเจ้าถิ่นตัวจริงก็ว่าได้
(ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 947 วันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2556)