วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สภานสพ.ชี้สื่อท้องถิ่น โตสวนกระแส ยึดข่าวแนวชุมชนสู้


ประธานสภา นสพ.วิเคราะห์อนาคต หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เชื่อยังมีโอกาสโต ในรูปแบบหนังสือพิมพ์ชุมชน ในขณะที่ นสพ.ส่วนกลาง ดิ้นหนีตาย ยอดขายตก อิงสื่อสังคมออนไลน์ ขายข่าว อุตสาหกรรมกดดันทำกำไร กดคนข่าวเป็นผู้ใช้แรงงาน

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วิเคราะห์อนาคตของสื่อท้องถิ่น ในระหว่างการเยี่ยมเยียนองค์กรสมาชิกในเขตภาคเหนือ รวมทั้งลานนาโพสต์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า แนวโน้มของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางขณะนี้ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากยอดจำหน่ายที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโฆษณาที่ลดลง และข่าวที่แทบไม่แตกต่างกันในแต่ละฉบับ ในหลายครั้งยังใช้แหล่งข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่มีที่มาและความเชื่อถือ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขยายตัวต่อไป ด้วยเนื้อหาข่าวที่แตกต่าง และไม่สามารถดูจากสื่ออื่นๆทดแทนได้

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวว่า ในสหรัฐหนังสือพิมพ์ที่ยังคงอยู่ได้ คือหนังสือพิมพ์ชุมชน หรือ Community Newspaper ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นที่เสนอข่าวท้องถิ่น ข่าวที่ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น ยังเป็นข่าวที่ขายได้ ถึงแม้ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารจะมีช่องทางใหม่ๆให้ผู้รับสารเลือกเสพได้ก็ตาม นอกจากนั้นในเชิงการบริหาร หนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดเป็นกิจการขนาดเล็ก จึงไม่มีความเสี่ยงในแง่ธุรกิจมากนัก

 “ผมเชื่อว่า คนลำปาง คนในท้องถิ่น คงไม่ได้ให้ความสนใจ หรือรู้สึกว่าการขึ้นค่าทางด่วนจะเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาเท่ากับข่าวหมอกควัน แม้กระทั่งข่าวการเมืองในกรุงเทพ ก็ไม่ได้มีความสำคัญ หรือน่าสนใจมากกว่าข่าวประกวดนางงามลำปาง ซึ่งข่าวเหล่านี้ไม่มีในไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหนังสือพิมพ์ส่วนกลางฉบับอื่นๆ”

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ในแง่ของการปรับตัวองค์กรสื่อในส่วนกลาง ต้องปรับตัวมากกว่า สถานะของนักข่าวยุคใหม่ ต้องแปรรูปจากนักคิด นักเขียน ที่มีอิสระในการทำงาน มาเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ที่ทำตัวเสมือนเครื่องจักร ผลิตสินค้าหลากหลายประเภทโดยคนคนเดียว ผลิตสินค้าจำนวนมาก เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ

ประธานสภา นสพ.กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาสำคัญที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรม แน่นอนว่า เราไม่อาจปฏิเสธบทบาททางธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีรายได้มาหล่อเลี้ยง องค์กร และพนักงานจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาหาเลี้ยงชีพจากการทำงาน แต่จุดสมดุลระหว่างเป้าหมายในเชิงอุดมการณ์และธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วสื่อจะยังดำรงอยู่ได้ยั่งยืน ก็ด้วยความน่าเชื่อถือ หาใช่ความสามารถในการหาเงินหรือทำกำไรที่เป็นเรื่องฉาบฉวย และบางครั้งอาจต้องแลกมาด้วยวิธีการอันไม่สุจริต มีตัวอย่างมากมายของสื่อที่มุ่งเพียงแสวงหากำไรระยะสั้น แต่สูญเสียความน่าเชื่อถือในระยะยาว ตรงกันข้ามกับสื่อที่มั่นคง แน่วแน่ในอุดมการณ์ ไม่ว่าผิดหรือถูก แต่การตอบรับที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นเรื่องน่ายินดี เช่น ยอดขายหนังสือพิมพ์รายวันของหนังสือพิมพ์ขนาดกลางบางฉบับ

นายจักร์กฤษ ย้ำว่า สภาการ นสพ.เป็นองค์กรสื่อระดับชาติ ที่ให้ความสำคัญกับสื่อโดยไม่แยกแบ่งว่าเป็นสื่อส่วนกลางและท้องถิ่น ซึ่งหากสื่อในท้องถิ่นต้องการยกระดับคุณภาพ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่หลักประกันความเชื่อถือในอนาคต สภานสพ.ก็ยินดีตอบรับการเป็นสมาชิกเพื่อร่วมกันรักษาหลักการการเป็นสื่อที่ดีต่อไป



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 953 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์