สังคมไทย
ผ่านห้วงเวลาวิกฤติไปได้อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การแก้ไขหลักการจากการมี
ส.ว.สรรหา และเลือกตั้งเป็นเลือกตั้งทั้งหมด ตกไป ในขณะเดียวกันก็มีมติยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรค
เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไข และดูจะไกลเหตุ ไกลผลเกินไป
ประเด็นหลังนี้เองที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งรับไม่ทันและสลายตัวไปในที่สุด
แต่ถึงกระนั้น หลังฝุ่นตลบอบอวลจางไป
ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาท การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ด้วยพื้นฐานความเข้าใจของแต่ละกลุ่มคน ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน
บางคนอธิบายว่า ศาลไม่มีหน้าที่มาสั่งสอนประชาชน ศาลวินิจฉัยคลุมเครือไม่เข้าใจ
หรือกระทั่งเสนอคำถามที่ไม่มีวันรู้จบว่า
เมื่อศาลมีอำนาจตรวจสอบการกระทำที่ผิดหรือละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วองค์กรใดจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือดุลพินิจของศาล
ซึ่งปัญหาดุลพินิจหรือปัญหาการใช้ข้อกฎหมายนี้
เป็นอีกประเด็นที่อาจก่อให้เกิดการโต้แย้งในกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ
ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้ จึงมุ่งต่อปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดปากผู้โต้แย้งไปโดยปริยาย
ปัญหาข้อเท็จจริง คือสิ่งที่ปรากฏเป็นจริง ตามพยานหลักฐาน
ในขณะที่ปัญหาข้อกฎหมายคือการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมาย
ซึ่งมักจะปรากฏถ้อยคำ เช่น ศาลเห็นว่า ศาลเชื่อว่า เช่นนี้เป็นต้น
ในกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือ
การเปลี่ยนแปลงเอกสารในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างเดิม และร่างแก้ไข
กับการลงคะแนนแทนกันด้วยบัตรอิเล็คทรอนิคส์
“...เมื่อตรวจสอบ ปรากฏว่า อักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการ
และเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข
และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข
เอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่า ได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน
และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ในหน้าบันทึกวิเคราะห์
สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายนิ้วมือ”
กับข้อเท็จจริง
“..ผู้ถูกร้องที่ 162
ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้บัตรอิเล็คทรอนิคส์แสดงตน
และออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตร
และกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่พยานนำสืบต่อศาล
ก็เห็นภาพบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า เป็นนายนริศร ทองธิราช
ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งสวมสูทสีเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในคลิปวิดิทัศน์
ที่ถือบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็คทรอนิคส์ไว้ในมือจำนวนหนึ่ง”
ความบางตอน ที่อ่านโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่ได้กล่าวถึง
คือประเด็นที่ซ่อนไว้ในคำวินิจฉัย
การปลอมแปลงเอกสารกรณีเปลี่ยนแปลงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
กรณีลงบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นความผิดอาญาและผู้ที่กระทำ ซึ่งได้แก่
ส.ส.ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีต่อไป
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ครั้งนี้ ดับฝันสภาผัวเมีย และเป็นเสมือนกรวดในรองเท้าของกลุ่มพลเมืองทักษิณตลอดมา
นักวิชาการกลุ่มเสื้อแดง เช่น นิติราษฎร์ ของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
เคยเสนอให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว
โดยให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมาแทนที่
แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านพายุการเมืองที่โหมกระหน่ำเข้ามา
คำวินิจฉัยที่รอบคอบ รัดกุม เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน คือความเหนือชั้นของตุลาการที่ติดดาวให้ได้อีกครั้งหนึ่ง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 953 วันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2556)