วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“เฮาฮักม่อนพระยาแช่” เมื่อห้องเรียนเปลี่ยนเป็นป่ากว้าง


วัดม่อนพระยาแช่ ตำบลพิชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง กลับมาเงียบสงบอีกครั้ง หลังกลุ่มคนสร้างฝายจากหลากหลายสังกัดทยอยเดินทางกลับ คงเหลือเพียงท่านเจ้าอาวาส-พระครูวอ อติธฺมโม พระลูกวัด กับผู้ชายอีกคนเท่านั้น

เสกสรรค์ แดงใส อาศัยอยู่ที่วัดมานานสักระยะหนึ่งแล้ว อดีตอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ของวิทยาลัยอาชีวะศึกษาลำปาง เดินออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม แล้วพาตัวเองมาสู่ห้องเรียนธรรมชาติ ที่ทำงานใหม่ของเขามีพื้นที่กว้างกว่า 2,500 ไร่ บนดอยที่ชื่อว่าม่อนพระยาแช่ พร้อมกับริเริ่มโครงการ เฮาฮักม่อนพระยาแช่ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการทรงงานและพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ด้วยแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ป่าสมบูรณ์ ผ่านการลองผิดลองถูก โดยเริ่มจากการปลูกต้นไม้ ทว่าต้นไม้ไม่อาจเติบโตได้หากป่าแล้ง เสกสรรค์จึงมองไปที่น้ำ และการสร้างฝายก็ดูเหมือนจะเป็นการรักษาน้ำไว้ได้มากที่สุด

การสร้างฝายต้องทำจากจุดสูงสุดก่อน พระองค์ท่านทรงบอกไว้ครับเสกสรรค์ว่า ซึ่งก็จริง ป่าม่อนพระยาแช่ถือเป็นป่าต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง เป็นป่าใกล้เมืองที่อยู่ห่างจากถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-งาวแค่ราว 4.8 กิโลเมตร น้ำจากป่าม่อนพระยาแช่ส่วนหนึ่งไหลไปลงแม่น้ำวัง และใครจะรู้ว่า ป่าผืนนี้มีฝายอยู่ถึง 600 ตัว อันเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของแนวร่วมโครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ ทั้งนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีจิตอาสา

ประโยชน์ของฝายก็คือ ช่วยชะลอน้ำให้ซึมลงไปเก็บไว้ในภูเขา เป็นการลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ห้วยหลักในทันที เพราะน้ำจะถูกเฉลี่ยเก็บไว้ตั้งแต่ยอดดอยด้วยฝายแต่ละตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดความชุ่มชื้นอย่างทั่วถึงตั้งแต่ยอดดอยไปจนถึงตีนดอย

ฝายของโครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่เป็นฝายที่เสกสรรค์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่และวัสดุอุปกรณ์ที่มี โดยหินและปูนจะแล้วแต่ว่าช่วงนั้นมีใครบริจาคหรือไม่ ส่วนดิน ทราย ไม้ไผ่ หาเอาจากในป่า แม้แต่จีวรพระที่ท่านไม่ใช้แล้ว ยังนำมาทำเป็นเชือกมัดไม้ไผ่แทนลวดได้ หรือนำมากางกั้นการพังทลายของตัวฝายก็ได้ผลดี

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความแห้งแล้งนอกจากจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างฝายเพื่อคงความชุ่มชื้นให้ผืนป่าแล้ว ไฟป่ายังเป็นตัวการสำคัญที่เผาผลาญป่าให้หายไปได้พริบตาเพียงชั่วข้ามคืน แล้วผลที่ตามมาก็คือหมอกควันที่บ้านเราต้องเผชิญกันทุกฤดูแล้ง

โครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่จึงมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับ ฝายและ ไฟคือทั้งสร้างฝายและดับไฟป่า โดยเสกสรรค์ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ไว้ด้วยความหวัง ซึ่งก็คือเหล่านักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เต็มใจออกมาเรียนรู้โลกกว้าง ให้พวกเขาได้ลงมือสร้างฝาย ถอดรองเท้าเดินย่ำดิน มือสัมผัสน้ำใสเย็น แวดล้อมด้วยเงาต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น แล้วรอคอยวันที่ผืนป่าม่อนพระยาแช่ค่อย ๆ กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างภาคภูมิใจที่ตนเองก็มีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน

ปีนี้ชาวบ้านบอกว่า ม่อนพระยาแช่เป็นที่หาอยู่หากินได้สบาย อาจเพราะฝายที่กระจายอยู่ทั่วป่าเริ่มให้ผล ทั้งเห็ด หน่อไม้ หรือแม้แต่อึ่ง ทั้งนี้ ทุกคนต่างมีสิทธิ์ในผลิตผลของผืนป่าภายใต้คำว่าหากินเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจ และทุกคนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาเช่นกัน

เหมือนผมจะทำสวนมะม่วงนั่นแหละครับเสกสรรค์ยกตัวอย่าง ผมถามคุณว่าอยากกินไหม ถ้าคุณบอกอยากกิน คุณก็ต้องมาช่วยผมดูแล แล้วถ้าเราช่วยกันทะนุถนอมต้นมะม่วงมานาน จู่ ๆ มีคนอื่นมาแอบขโมย หรือโค่นต้นมะม่วงของพวกเราไป เราก็คงไม่ยอม

แม้โครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่จะดำเนินไปอย่างเข้มข้น ชนิดที่มีการสร้างฝายกันทุกอาทิตย์ แต่เสกสรรค์ก็ยังยืนยันว่า จิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ของคนลำปางยังมีน้อยมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า บ้านเรามีโครงการปลูกป่ามากมาย แต่ทำไมสภาพป่าจึงไม่ดีขึ้น การทำลายป่ายังมีอยู่เช่นเดิม

เพราะจิตวิญญาณมันไม่มีน่ะสิครับเสกสรรค์ว่า

บริเวณฝายกึ่งถาวรแบบคอกหมู 3 ชั้นเงียบเชียบ ต่างจากเมื่อเช้าที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนจิตอาสา หลายคนมาแล้วจากไป เหลือเพียงคนอยู่ที่คอยดูแล ซ่อมสร้าง และคิดถึงหนทางที่จะสร้างฝายครั้งต่อไป

บนยอดดอย คนกลุ่มหนึ่งกำลังสร้างฝายและดับไฟด้วยหัวใจที่พองโต ต่ำลงมาในเมือง คนอีกกลุ่มยังตัดต้นไม้เพื่อปลูกบ้าน จุดไฟเผาใบไม้กับเศษหญ้า ฯลฯ

ระหว่างเมืองกับป่าม่อนพระยาแช่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร แต่ช่างราวกับว่าคนเหล่านี้อยู่กันคนละโลก         
           
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 955  6 - 12 ธันวาคม 2556)         
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์