วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557

เรื่องในสวน



อากาศหนาวอาจยื้อเวลานอนของใครหลาย ๆ คนให้อ้อยอิ่งอยู่กับที่นอนอุ่น ๆ แต่ไม่ใช่กับคนทำสวนผักอย่างป้าสมจิตรกับลุงวิรัตน์ ธิช่างทอง สองพี่น้องชาวบ้านพิชัย ที่ไม่ว่าจะหนาวเหน็บแค่ไหน ลุง หรือไม่ก็ป้า ก็ต้องขี่จักรยานมาสวน ลุงวิรัตน์บอกว่า น้ำเหมยนั้นเค็ม ถ้ามารดน้ำผักได้ก็จะดี เสียงน้ำที่พุ่งผ่านสายยางจึงดังให้ได้ยินเสมอในทุกเช้า

บ้านพิชัย หมู่ 1 ในอำเภอเมืองลำปาง เป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษช่วงฤดูหนาวที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนรักสุขภาพ มีการจัดตั้งกลุ่มผักปลอดสารพิษเครือข่าย อสม. บ้านพิชัย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้าน 10 กว่ารายที่ทำสวนผักปลอดสารพิษและได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หรือสาธารณสุข ช่วงฤดูหนาวจึงมักมีคนจากข้างนอกมาเดินเลือกซื้อผักสด ๆ กันถึงในสวน คนในเมืองตื่นเต้นเมื่อได้ลงไปลุยสวน พวกเขาเห็นผักงอกงาม และสามารถเอื้อมมือไปเด็ดต้นที่ต้องการได้อย่างสะดวกใจ เพราะแต่ละสวนต่างไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เฉพาะปุ๋ยหมักกับปุ๋ยคอก และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่จะใช้น้ำหมักที่ทำเองโดยใช้ตะไคร้ ข่า กับสะเดา ตำเอาแต่น้ำมาพ่นกันแมลง ชาวสวนบางรายไม่ใช้วิธีตำ แต่นำตะไคร้ ข่า กับสะเดามาหมักนาน 20-30 วัน จากนั้นค่อยเอาน้ำมาพ่นผัก ซึ่งก็ได้ผลดีเหมือนกัน

ผักที่ปลูกที่นี่มีทั้งผักบุ้ง ผักคะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง ผักชี ผักขี้ควาย ผักหม หรือผักขม ชะอม ถั่วฝักยาว ผักสลัด ฯลฯ ทุกเช้า ชาวสวนจะเก็บผักสารพัดชนิดมาวางขายที่ตลาดในหมู่บ้าน ข้างวัดพิชัย หรือไม่ก็ศาลาขายผักข้างวัดพิชัยในตอนเย็น บางรายนำไปวางขายที่ตลาดนัดบ้านสามัคคีในวันอังคาร หรือไม่ก็ถนนวัฒนธรรมในวันศุกร์ เรียกได้ว่า ทุกวันจะมีผลิตผลจากบ้านพิชัยถึงมือคนชอบกินผักตลอดช่วงฤดูหนาว แม้ปีนี้คนที่ปลูกผักมาครึ่งค่อนชีวิตจะบอกว่าเห็นท่าผักคงไม่ค่อยดี เพราะหนาวช้า แล้วฝนก็ยังมาตก ทำเอาผักที่หว่านไว้เสียหายไปหลายรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักที่ถูกฝนไม่ได้เลยอย่างผักชี

บรรดาผักพื้นบ้านทั้งหลายในสวน ลุงวิรัตน์ยกให้ผักสลัดเป็นชนิดที่ดูแลยากที่สุด เพราะถ้าได้น้ำน้อย หรือน้ำไม่ถึง มันจะออกรสขม นี่เอง เป็นเหตุผลที่ทำให้เข้าใจว่า ทำไมผักสลัดที่ซื้อมาจึงขมจนต้องโยนทิ้งให้หงุดหงิด

ด้านผักที่มีประโยชน์มาก ลุงวิรัตน์ยกให้ผักหม หรือที่บางคนเรียกผักขม เป็นสุดยอดผักที่อุดมด้วยวิตามิน แล้วยังเป็นยาเย็น กินแล้วร่างกายสดชื่น ช่วยบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะผักหมหนามที่ต้องกินต้นอ่อน ๆ ตอนที่ใบของมันเป็นสีแดง นับเป็นผักหมชนิดที่อร่อยที่สุด

ผักขี้ควาย หรือบางคนเรียกผักตังโอ๋ ผักที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ใบรูปหยึกหยัก กลิ่นหอม มีให้กินเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ผักขี้ควายมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์พื้นเมือง ลักษณะใบเล็กแหลมและหยักมาก กับอีกพันธุ์คือพันธุ์จีน ที่ใบจะใหญ่และกว้าง ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกทุ่งหลายร้านมักนำมาให้ลูกค้ากินแกล้มกับก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมันมักจะเป็นที่โปรดปรานและหมดไปก่อนผักชนิดอื่นเสมอ

ผักเชียงดา นิยมนำมาผัด หรือแกง หากกินดิบจะออกรสขม เป็นยาเย็น

ผักชื่อแปลกอย่างผักฮ้วนหมู ขึ้นเป็นเถา ดอกและยอดกินได้ แต่ไม่นิยมกินดิบ เพราะมีรสขม ส่วนใหญ่นิยมนำมาต้มกินกับตำมะม่วง หรือไม่ก็แกงใส่ปลาย่าง ลุงวิรัตน์ย้ำว่าต้องปลาย่างเท่านั้น หากแกงใส่หมูจะไม่อร่อย

ผักแส้ว ทอดยอดอยู่ตามรั้ว ออกรสขม จึงเป็นยา นำมาแกงใส่ไข่ หรือกินกับตำส้ม ตำมะม่วง

นอกจากนี้ ยังมีผักชื่อแปลก ๆ อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักขี้กวาง ซึ่งเป็นยาเย็น นิยมกินยอดอ่อนโดยนำมาแกง ออกรสขม ผักขี้กบและผักขี้เขียด ที่มักขึ้นตามแอ่งน้ำแห้ง ๆ ในทุ่งนา แล้วยังมีผักไข่เหาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ นิยมนำมาแกงกิน ลุงวิรัตน์บอกว่า ผักเหล่านี้ผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักดี เป็นของดีที่หากมีใครนำมาวางขาย รับรองว่าวางได้ไม่นานก็ต้องมีคนแย่งกันซื้อ

น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักผักเหล่านี้เสียแล้ว บางครั้งยังหลงเพริดไปกับผักหน้าตาสะสวยที่เน้นปริมาณกับราคาแสนถูก ทว่าอุดมไปด้วยสารพิษตกค้าง
...........................................
หมายเหตุ : แล้วผักอย่างไหนกันที่ปลอดภัยสุด ๆ คงต้องเป็น “ผักออร์แกนิก” หรือผักอินทรีย์ ที่ไม่ใช้ทั้งยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนเร่ง และเมล็ดพันธุ์ GMOs ส่วน “ผักปลอดสาร” ต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่สามารถใช้ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนเร่ง และเมล็ดพันธุ์ GMOs ได้ เพียงแต่ต้องเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย ด้าน “ผักปลอดภัยจากสารพิษ” นั้น สามารถใช้ได้หมด ทั้งยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนเร่ง และเมล็ดพันธุ์ GMOs โดยมีข้อแม้เช่นเดียวกับผักปลอดสาร นั่นคือ ต้องเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย ในขณะที่ “ผักไฮโดรโพนิกส์” สามารถใช้สารเคมีได้ทั้งหมดที่กล่าวมา แล้วยังไม่มีข้อแม้ในเรื่องการเก็บผลผลิตในระยะเวลาที่ปลอดภัยอีกด้วย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 959  3 - 9 มกราคม 2557)    
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์