วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

พ่อครูคำ กาไวย์ ปราชญ์เชียงใหม่ผู้ร่วมบุกเบิกก๋องปู่จาเมืองลำปาง


ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา ไล่เลยขึ้นไปถึงเชียงตุงและสิบสองปันนา มีเครื่องดนตรีประเภทกลองชนิดหนึ่งซึ่งมีความพิเศษ คือพบเฉพาะถิ่นนี้เท่านั้น นั่นคือกลองบูชา หรือที่คนพื้นถิ่นเหนือออกเสียงเป็นก๋องปู่จา

เมื่อปี พ.ศ. 2544 ได้มีการสำรวจจำนวนก๋องปู่จาแล้วพบว่า เมืองลำปางของเรามีก๋องปู่จามากที่สุดในประเทศ โดยมีอยู่ราว 1,200-1,300 ชุด แต่ปัญหาและความน่าเสียดายอยู่ตรงที่ก๋องปู่จาไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของชาวลำปางอย่างที่ควรจะเป็น

ความจริงข้อนี้นำไปสู่การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจหยิบยกเรื่องก๋องปู่จาขึ้นมาทำเป็นโครงการส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมชาวเหนือและจังหวัดลำปาง โดยเริ่มต้นจากการปลุกกระแสก๋องปู่จา ทบทวนเรื่องความเป็นมาของกลองชนิดนี้ มีการพูดคุยกับปราชญ์พื้นบ้านสองสามท่าน ซึ่งเห็นว่าถ้าจะส่งเสริมก๋องปู่จา เรื่องระบำเพลงที่ใช้ตีกลองก็สำคัญและแทบจะสูญหายไปแล้วเช่นกัน จึงมีการไปเชิญพ่อครูคำ กาไวย์ ปราชญ์ชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2535 สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) มาพบปะพูดคุยกับชุมชนในอำเภอต่าง ๆ

การเดินสายช่วงแรกเป็นการไปชี้แจงและปลุกกระแสก๋องปู่จาขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก็เกิดกระแสตื่นตัวอย่างมากครับ เพราะคนเฒ่าคนแก่อยากส่งเสริมเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพวกเขาไม่มีช่องทางเท่านั้นเอง เราเริ่มเห็นเจ้าอาวาสบางวัดนำกลองออกมาทำความสะอาด ปีแรก ๆ ที่ผมตระเวนไปกับคณะ รับรู้เลยครับว่า ความรู้สึกของคนสูงอายุนั้นเป็นอย่างไร บางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจที่ได้ยินเสียงก๋องปู่จาอีกครั้ง ประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท. ซึ่งร่วมอยู่ในยุคบุกเบิกก๋องปู่จาเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังจำได้ดีถึงบรรยากาศในช่วงปลุกกระแส และนี่คือจุดเริ่มต้นของงานใหญ่ประจำปีเมืองลำปางในเวลาต่อมา งานสลุงหลวง ก๋องใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟันเฟืองเล็ก ๆ อย่างพ่อครูคำ กาไวย์ ได้มีส่วนทำให้เกิดแรงบันดาลใจในหมู่ชาวบ้านที่ยังรักในการตีก๋องปู่จา หลายคนในคณะทำงานยุคบุกเบิกมักจะกล่าวถึงท่านเสมอ เพราะพ่อครูคำมีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านการตีกลองสะบัดชัย จากประวัติของท่านทำให้เรารู้ว่า หลังจบชั้นประถมศึกษาแล้วท่านไม่ได้เรียนต่อที่ไหน แต่ด้วยความสนใจในศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะกลองสะบัดชัย ทำให้ท่านพยายามจะเข้าไปขอความรู้จากคณะต่าง ๆ แต่ไม่มีโอกาส ทว่าพ่อครูคำก็ขวนขวายจนได้เป็นคนตีกลองประจำศรัทธาวัดเอรัญทวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 คณะศรัทธาวัดเอรัญทวันสมัครเข้าประกวดการตีกลองสะบัดชัยในงานฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาและได้รับรางวัลที่ 1 นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นายคำ กาไวย์ เป็นที่รู้จัก และโลดแล่นอยู่บนถนนสายวัฒนธรรมล้านนาต่อมาอย่างน่าภาคภูมิ

รวินทร์ คำโพธิ์ทอง เพื่อนในเฟซบุ๊กซึ่งเคยไปสัมภาษณ์เชิงลึกพ่อครูคำ กาไวย์ ได้โพสต์ข้อความรำลึกถึงพ่อครูคำไว้ว่า พ่อครูเป็นปราชญ์ชาวบ้านไฮเปอร์ แข็งแรง และกระฉับกระเฉง เป็นคนตัวเล็ก เป็นครูภูมิปัญญาที่รักการสอนและมีลูกศิษย์มากมาย ทำงานไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ไม่ว่าวุฒิ หรือเงินเดือน ตำแหน่งที่ได้รับบรรจุตอนเข้ารับราชการที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ คือ นักการภารโรง เพราะพ่อครูไม่มีวุฒิการศึกษา แต่ความสามารถทางภูมิปัญญา ลึกซึ้ง ยินดีที่ได้รู้จักครูที่แท้ แม้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เสียใจมาก เพราะประทับใจพ่อครูมาก จะมีสักกี่คนที่รักลูกศิษย์ด้วยความจริงใจ โดยถ่ายทอดออกมาทางสายตาและการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข สุข สงบค่ะครู ก่อนกลับกอดลาแกไปหนึ่งครั้ง ไม่คิดว่าจะเป็นการกอดลาครั้งสุดท้าย การได้พบพ่อครูทำให้เราตระหนักว่า คนตัวเล็กในสังคมไทยนั้น ตัวเล็กจนวันสุดท้าย

พ่อครูคำ กาไวย์ จากไปอย่างสงบที่บ้านในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยโรคมะเร็งปอด


งานศพของท่านไม่มีการจุดธูป เรื่องนี้ลูกหลานท่านบอกว่า พ่อครูไปร่วมงานศพมาหลายงานพบว่า ควันจากธูปที่จุดในงานนั้นรบกวนคนเฒ่าคนแก่อย่างมาก ทั้งยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จึงได้บอกลูกหลานไว้ว่า ถ้าจัดงานศพให้ท่านเมื่อใด ให้ยกเลิกการจุดธูปเสีย แค่ให้ไหว้แล้วปักธูปไว้ก็พอ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 967  ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์