วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“บ้านขอใต้ – ขอเหนือ” ชุมชนรางวัลลูกโลกสีเขียว ต้นแบบการจัดการป่าเขตอนุรักษ์ และป้องกันไฟป่า






ชุมชนบ้านขอใต้-ขอเหนือ ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันลูกโลกสีเขียว เข้ารับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2556  ภายหลังได้สร้างผลงานในการจัดการป่าให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ จากผืนป่าที่ผ่านการสัมปทาน บุกรุก แผ้วถาง ทำไร่เลื่อนลอย ปล่อยทิ้งร้างและการเผาป่า  เพื่อยึดครองพื้นที่โดยกลุ่มนายทุน จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ป่าที่เหลือ  ฟื้นไร่ร้างให้กลายเป็นป่าชุมชนเนื้อที่ 1,500 ไร่ และหาญกล้าขอขยายพื้นที่เฝ้าระวังไฟป่าเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอีก 4,000 ไร่ จนสามารถป้องกันไฟป่าได้ถึง 6 ปีติดต่อกัน กลายเป็นแบบอย่างชุมชนที่สามารถจัดการป่าในเขตอนุรักษ์

รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 15 ประจำปี 2556  ประเภทชุมชน จึงเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ จากผลงานที่คนในชุมชนขอใต้-ขอเหนือ ได้ทุ่มเทเสียสละและต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าใกล้ชุมชน 5,500  ไร่ ให้คงความอุดมสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน


นายอภัย สอนดี ผู้ใหญ่บ้านบ้านขอใต้ เล่าให้ฟังว่า เดิมบ้านขอใต้ หมู่ 4 และบ้านขอเหนือ หมู่ 9 เป็นหมู่บ้านเดียวกัน พอปี 2531 ได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน ด้วยเหตุผลทางการปกครอง แต่ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตร่วมกันเสมือนเป็นหมู่บ้านเดียวกัน โดยเฉพาะการปกป้องพื้นที่ป่า ได้เริ่มทำร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะแยกหมู่บ้าน และทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“ช่วงนั้นการลักลอบตัดไม้ของกลุ่มนายทุนตอนนั้นยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยคนในชุมชนชักชวนนายทุนต่างถิ่นเข้ามาทำไม้ในพื้นที่ป่าใกล้หมู่บ้าน หลายครั้ง ที่ผู้นำชุมชน ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านรวมตัวกันเข้าไปยึดไม้ที่ลักลอบตัด เมื่อไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้แต่ไม่มีหน่วยงานใดสนใจดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคน มีส่วนเกี่ยวข้องและปกป้องผลประโยชน์ให้กลับพวกนายทุน จนในที่สุดชาวบ้านต้องลุกขึ้นสู้ รวมตัวกันสกัดเส้นทางเข้า-ออกป่า ไม่ให้ผู้บุกรุกนำไม้ออกไปได้”

นายอภัย  กล่าวว่า  ชาวบ้านขอใต้เริ่มได้เรียนรู้ประโยชน์ของป่าไม้ดีขึ้น หลังจากประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่การทำการเกษตร จนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า พอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาราคาพืชผักทางการเกษตร ตกต่ำ ประกอบกับ การขนส่งสินค้ายากลำบาก เพราะถนนจากหมู่บ้านเข้าไปในเมืองเป็นถนนลูกรัง เป็นหลุม เป็นบ่อ ชาวบ้านทนต่อสภาพเหล่านี้ไม่ไหวจึงเลิกทำไร่เลื่อนลอย เมื่อชาวบ้านเลิกทำกินในพื้นที่ป่า ต้นไม้ก็เริ่มเติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นป่าไม้หลากหลายชนิด จึงประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยมติของที่ประชุมเห็นร่วมกันในการฟื้นคืนสภาพป่า ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่าทดแทน ทำแนวกันไฟ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ในปี พ.ศ. 2549 กรมป่าไม้มีนโยบาย ป่ารักคน คนรักป่า  ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้น ชุมชนบ้านขอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการป่าชุมชน และขอคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่เป็นไร่ร้าง พื้นที่ 1,500 ไร่ มาทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้อง และใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2551 คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านขอใต้-ขอเหนือได้ขยายพื้นที่ออกไปอีก 4,000 ไร่ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาสูงชัน เวลาเกิดไฟป่าเข้าไปดับลำบาก จึงยึดแนวสันเขาเป็นเขตทำแนวกันไฟ ความยาว 7,500  เมตร  สมาชิกกลุ่มต่างๆในหมู่บ้าน ทั้งหมด 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน(กองทุนเงินล้าน) กลุ่มแม่บ้านผู้เลี้ยงโค กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มออมเงินวันละบาท กลุ่มน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มฉางข้าว กลุ่มผู้ใช้อ่างเก็บน้ำห้วยม่วง และกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมป่าชุมชน และการดูแลรักษาป่า ปัจจุบันมีคณะกรรมการทั้งหมด 56 คน จากสมาชิกทั้งหมด 270 ครัวเรือน

นายผิน เปนุจา รองประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านขอใต้ กล่าวว่า การดำเนินงานป่าชุมชนบ้านขอใต้ ได้มีระเบียบข้อบังคับให้คนในชุมชนยึดถือปฏิบัติชัดเจน ขณะเดียวกันสมาชิกทุกกลุ่มก็จะเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การทำแนวกันไป ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า และบวชป่า หรือแม้กระทั่งจัดเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า และจัดทำแนวกันไฟป่า ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมทุกปี พอช่วงเดือนพฤษภาคม สิงหาคม ก็จะระดมชาวบ้านทำพิธีบวชป่า ปลูกป่า ทำฝายชะลอต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางคนยังขาดจิตสำนึก ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการดำเนินกิจกรรม มีการกลั่นแกล้งปลุกปั่นให้ชาวบ้านต่อต้านการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ คนในหมูบ้านข้างเคียงก็ยังเข้ามาหาของป่า ล่าสัตว์ ด้วยวิธีการเผาป่า โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คณะกรรมการป่าชุมชน พยายามต่อสู้กับปัญหาหลายด้านโดยจัดการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากป่า  ประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวหมู่บ้าน เปิดแผ่นซีดี สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้านข้างเคียงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ได้ขอรับการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น สำนักส่วนจัดการป่าชุมชนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (ลำปาง) กรมป่าไม้  อุทานแห่งชาติแจ้ซ้อน  สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง หน่วยควบคุมไฟป่าแจ้ซ้อน และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขอ ทำให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัวในการดูแลรักษาป่ามากขึ้น เกิดความรักและหวงแหน  รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของป่า


“ป่าชุมชนบ้านขอใต้ ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของคนในชุมชน เด็ก เยาวชนและหน่วยงานอื่น ขยายเครือข่ายให้ได้ทุกๆ หมู่บ้านในตำบล ตั้งแต่หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 13 พอได้เห็นป่าในพื้นที่อำเภอเมืองปานอุดมสมบูรณ์ ทุกฝ่ายเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องดิน น้ำ ป่า ร่วมกับชุมชน มีการจัดเข้าค่ายเยาวชนคนรักป่า ผลักดันเข้าสู่หลักสูตรท้องถิ่นและจัดการศึกษาเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในโรงเรียน”

ในปัจจุบันชาวบ้านขอใต้-ขอเหนือ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี มีรายได้จากการทำการเกษตรชีวภาพ เช่น ปลูกข้าว ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดทำพันธุ์  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริก ถั่วลิสง สร้างรายได้แก่ชาวบ้านในพื้นที่  ในด้านอาหารเช่น เห็ด  หน่อไม้ มดแดง  ตัวต่อ  ผึ้ง  รถด่วน ปู ปลา และอื่นๆ ในด้านพืชสมุนไพร มะขามเครือ มะขามป้อม มะกอก สมอ มะตูม และรังจืด  เป็นต้น 

ด้วยเพราะเห็นคุณค่าของป่าไม้ ชาวบ้านขอใต้-ขอเหนือ จึงมีชีวิตอยู่แบบพึ่งพาอาศัยป่าพร้อมกับการดูแลรักษาป่า ไม่ให้ไฟไหม้ป่า  เมื่อป่าอุดม น้ำดี มีให้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ ปลูกข้าวไร่พืชไร่ก็ให้ผลผลิตดี ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ป่าไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลปกป้องจึงนำพาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น

นี่คือ ของขวัญจากธรรมชาติที่มอบให้กับชาวบ้านขอใต้-ขอเหนือ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 978 ประจำวันที่  16 - 22 พฤษภาคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์