วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แสงกะพริบแห่งค่ำคืน



กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ในคืนเดือนมืดของฤดูฝน รอบบ้านที่เป็นสวนริมแม่น้ำวังมีแสงกะพริบวิบวับดวงเล็ก ๆ ลอยคว้างอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มันคือแสงจากหิ่งห้อย แมลงตัวกระจ้อยที่นับวันจะหาได้ยากเต็มที หิ่งห้อยริมแม่น้ำวังแม้มีไม่มากนัก แต่ก็น่าตื่นเต้นไม่น้อย มันเป็นตัวชี้วัดว่าคุณภาพของอากาศและแม่น้ำบริเวณนี้ยังสดสะอาดใช้ได้

มนุษย์รู้จักหิ่งห้อยมากว่า 2,000 ปี คนจีน คนญี่ปุ่น และคนบราซิลในอดีต มักจับหิ่งห้อยใส่ขวดแก้วเพื่อใช้แทนตะเกียง พวกเขาพบว่า หิ่งห้อยโตเต็มที่ 6 ตัว สามารถให้แสงสว่างเพียงพอสำหรับการอ่านหนังสือในเวลากลางคืนได้ ในปานามา ชนพื้นเมืองนิยมจับหิ่งห้อยใส่ในกรงกระดาษเล็ก ๆ เพื่อนำมาติดเป็นต่างหู

H.M. Smith นักชีววิทยาชาวอเมริกัน มาเยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2478 เขาบันทึกไว้ว่า ยามโพล้เพล้ของวันในฤดูร้อน ขณะเรือกำลังลอยอยู่ในคลองริมฝั่งที่มีป่าต้นโกงกางขึ้นหนาแน่น เขาเห็นหิ่งห้อยนับหมื่นตัวโผบินมาเกาะต้นโกงกางที่สูงประมาณ 12 เมตร ลองคิดดูเถิดว่าจะน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน

ตอนแรกเขาสังเกตเห็นว่า หิ่งห้อยแต่ละตัวกะพริบแสงในจังหวะช้า-เร็วต่างกัน แต่ไม่นานจังหวะการกะพริบนั้นก็เริ่มพร้อมกันมากขึ้น จนในที่สุดหิ่งห้อยทั้งฝูงก็กะพริบแสงพร้อมกันทุกตัว

หิ่งห้อยที่เราเห็นตามพุ่มไม้มักเป็นตัวผู้ ส่วนตัวเมียชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้-ใบไม้ หิ่งห้อยใช้แสงกะพริบเพื่อบอกความพร้อมในการผสมพันธุ์และบอกถึงตำแหน่งที่อยู่ โดยตัวผู้จะกะพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นแสง เห็นลีลาการกะพริบ หรือเห็นความถี่ในการส่งสัญญาณแล้วพอใจ ก็จะส่งสัญญาณตอบเพื่อให้ตัวผู้บินไปหาได้ถูก ว่ากันว่า หิ่งห้อยตัวผู้บางสายพันธุ์หลังจากผสมพันธุ์แล้วก็จะตาย โหดกว่านั้นก็คือ หิ่งห้อยตัวเมียบางชนิดชอบกินหิ่งห้อยตัวผู้ มันจะส่งแสงสัญญาณล่อตัวผู้ให้บินเข้ามาหา โดยปรับความถี่และความเข้มของแสงให้ตัวผู้คิดว่ามันติดเนื้อต้องใจ เมื่อตัวผู้หลงกลก็ตกเป็นเหยื่ออันโอชะไป

แสงจากส่วนท้ายของลำตัวหิ่งห้อยเป็นแสงเย็นเช่นเดียวกับแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ชนิดที่ใช้กันตามบ้าน แต่แสงเย็นจากหิ่งห้อยเกิดจากสารชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของมัน ชื่อว่าลูซิเฟอริน เมื่อลูซิเฟอรินรวมตัวกับก๊าซออกซิเจนที่หิ่งห้อยหายใจเข้าไปกลายเป็นแสงเรืองสว่าง การบังคับแสงให้กะพริบเป็นจังหวะทำได้โดยการปล่อยก๊าซออกซิเจนเข้าไปรวมด้วยเป็นครั้ง ๆ ไป ก็จะได้แสงสว่างเป็นจังหวะที่ต้องการ
นักชีววิทยายังพบว่า หิ่งห้อยต่างชนิดกันจะมีวิธีส่งแสงสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน เช่น กะพริบแสงช้า-เร็วต่างกัน นอกจากนี้ แสงที่เปล่งออกมานั้นยังอาจเปลี่ยนสีได้ตามที่ที่มันอยู่

หิ่งห้อยหลังผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ตามดิน หรือที่ชื้นแฉะ จากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวหนอน มีดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัย หิ่งห้อยชอบออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำสะอาด ป่าโกงกาง ป่าชายฝั่งทะเล ฝั่งแม่น้ำที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นลำพู คนไทยโบราณเชื่อว่า หิ่งห้อยคือวิญญาณของชายที่จุดตะเกียงตามหาหญิงคนรักที่ชื่อลำพู ซึ่งจมหายไปในแม่น้ำ เช่นนี้ ลำพูจึงเป็นต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบเกาะ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นวิญญาณคนรักของตน

หิ่งห้อยในวันนี้เห็นได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่สภาพธรรมชาติถูกทำลายไป หิ่งห้อยจึงเป็นจุดขายของเมืองท่องเที่ยวริมน้ำอย่างอัมพวา หรือชุมชนที่มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ แต่ก็อีกนั่นแหละ หลายคนคงเคยได้ยินกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านริมคลองกับนักท่องเที่ยว โดยมีชนวนอยู่ที่หิ่งห้อยกับความเบื่อหน่ายรำคาญเสียงเรือหางยาวที่วิ่งไปวิ่งมา กระทั่งต้องมีการเร่งแก้ปัญหาด้วยการจัดระบบการท่องเที่ยวให้สมดุลในแต่ละวัน และส่งเสริมให้ใช้เรือแจว หรือเรือพายแทน บ้างก็แนะนำให้เดินไปชม ซึ่งจะได้สัมผัสหิ่งห้อยอย่างใกล้ชิด

สำหรับบ้านเรา หิ่งห้อยคงไม่สามารถทำเงินให้ใครได้ มันอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ขอแค่ต้นไม้ สายน้ำ และอากาศบริสุทธิ์ ไม่รู้ว่าหิ่งห้อยจะขอมากไปไหม



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 983 ประจำวันที่  20 - 26 มิถุนายน 2557)


           
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์