สำนักนายกฯส่งเรื่องแก้ปัญหาเอกสารสิทธิชาวบ้าน อ.แม่เมาะเข้าประกวดรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประเภทบูรณาการที่เป็นเลิศ
ลุ้นเป็น “แม่เมาะโมเดล” หลังระดมหน่วยงานแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน 14 ปี
ชาวบ้านอพยพชุดแรกได้โฉนดแล้ว รอสภาผู้แทนอนุมัติอีก 1,067 แปลง
- ติดตามปัญหาเอกสารสิทธิ
นายกมล สุขสมบูรณ์
รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสที่เดินทางมาติดตามผลงานการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรในพื้นที่
อ.แม่เมาะ จ.ลำปางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
นับตั้งแต่ กฟผ.ได้ดำเนินการขยายพื้นที่เหมืองแม่เมาะ และโครงการแม่จาง
เพื่อการจัดหาแหล่งน้ำใช้ในการหล่อเย็นของเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ อ.แม่เมาะ
จ.ลำปาง ในช่วงปี 2521-2536 จึงต้องอพยพราษฎรที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่อยู่แล้วไปอยู่ในพื้นที่บ้านท่าปะตุ่น-นาแขม
ปัจจุบันคือบ้านใหม่นาแขม หมู่ 7 และบ้านเมาะหลวง หมู่ 8 ต.แม่เมาะ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าแม่เมาะ และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จาง และที่บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ หมู่ 5 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จาง(ตอนขุน)
และราษฎรได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้ทางราชการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในพื้นที่อพยพจากการขยายเหมืองมาโดยตลอด
แต่เนื่องจากพบปัญหาว่าพื้นที่การอพยพดังกล่าว คาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ พื้นที่ ส.ป.ก. จึงไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หาแนวทางแก้ไขเรื่อยมา
- ตั้งแต่ปี 43 ติดพื้นที่ทับซ้อน
นายกมล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามติ
ค.ร.ม.วันที่ 15 ส.ค. 43
มีมติอนุมัติให้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัย และให้ออก ส.ป.ก.4-01 ในส่วนที่ทำกิน ให้แก่ราษฎรตามบัญชีรายชื่อ สำหรับสถานที่ราชการให้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ
แต่ประสบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน
- ปี 48 แก้ปัญหาเพิกถอนที่ดิน
จึงมี มติ ค.ร.ม.วันที่ 8
มี.ค.48 จึงได้สั่งให้ทบทวนมติ ค.ร.ม.ของวันที่ 15 ส.ค.43 เกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ
จากเดิมเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 8,169 ไร่ เพิ่มเป็น 9,416
ไร่เศษ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย
พร้อมกับให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร บริเวณบ้านใหม่รัตนโกสินทร์ หมู่ 5 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ เนื้อที่ประมาณ 216 ไร่
แล้วส่งมอบให้กรมที่ดินดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎร และมอบพื้นที่ที่เพิกถอนจากป่าสงวนแห่งชาติ
จำนวน 5,388 ไร่ ให้กรมที่ดิน และ
ส.ป.ก.ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรในพื้นที่
อ.แม่เมาะ จ.ลำปางขึ้น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
- มอบโฉนดได้ปี 54
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติ
ค.ร.ม.วันที่ 15 ส.ค.43
วันที่ 8 มี.ค.48 ได้มีการถอนสภาพพื้นที่ป่าแม่เมาะ
และกำหนดพื้นที่ป่าไม้ถาวรป่าแม่เมาะเรียบร้อยแล้วตามมติ
ค.ร.ม.ให้ออกโฉนดที่ดินในบริเวณที่อยู่อาศัยแก่ราษฎร กรมที่ดินได้ดำเนินการแล้ว
จำนวน 1,665 แปลง สำหรับการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร
ได้กำหนดเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ ต.แม่เมาะ
ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2535 และมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่ราษฎร จำนวน 167 ราย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.54 และวันที่ 20 ธ.ค. 55 มอบอีก 82 ราย
- คงค้าง 14 ราย ติดพื้นที่ป่าสงวน
รองปลัดฯ
กล่าวอีกว่า ในส่วนเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
แม่จาง(ตอนขุน) บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ส.ป.ก.ได้ร่างพระราชกฤษฎีกา
ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้ราษฎร จำนวน 242 ราย นอกจากนั้นได้มอบโฉนดที่ดินที่ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้กับราษฎรจำนวน
286 คน
และยังมีส่วนที่ยังไม่ได้มอบประมาณ 14 ราย เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ซึ่งกรมป่าไม้อยู่ระหว่างประกาศกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ
และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง(ตอนขุน)เรียบร้อยแล้ว
พร้อมส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินต่อไป
- เหลือขั้นตอนเสนอสภาผู้แทน 1,067 แปลง
นายกมล
กล่าวว่า สำหรับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จาง บ้านท่าปะตุ่น-นาแขม
กรณีที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนของป่าไม้ถาวร เขตป่าสงวนแห่งชาติ และ เขต
ส.ป.ก. จำนวน 1,067 แปลง ทำให้มีการตรวจสอบแนวเขต เพื่อปรังปรุงแผนที่ให้ถูกต้อง
และดำเนินการตามกฎหมายก่อนกรมที่ดินจะออกโฉนดให้กับราษฎร โดย ส.ป.ก.
ได้ประกาศเขตปฏิรูปทีดิ่นในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15
ก.พ.55
ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน ได้จำแนกพื้นที่ออกจากป่าไม้ถาวรแล้ว
ค.ร.ม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.55 กรมป่าไม้ประกาศกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติแม่จาง(ตอนขุน) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเรื่องให้กรมป่าไม้ตอบยืนยันร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการ-คณะรัฐมนตรี นำเข้า
ค.ร.ม.พิจารณาร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว แต่เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนเมื่อวันที่
9 ธ.ค. 56 จึงได้ส่งคืนร่างกฎกระทรวง
ให้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เสนอ ค.ร.ม.ชุดใหม่ต่อไป
เพื่อให้กรมที่ดินออกโฉนดให้กับราษฎร เมื่อที่ดินได้ถูกถอนสภาพแล้ว
โดยใช้เวลาในการออกโฉนดประมาณ 3 เดือน หลังจาก ค.ร.ม.อนุมัติ
- ร่วมมือแก้ไขยาวนาน 14 ปี
ทั้งนี้
การดำเนินการดังกล่าวได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2543
จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 14 ปี
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นผู้ประสานงานและติดตามเร่งรัดผลการดำเนินงาน สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาความถูกต้อง
และความชอบด้วยกฎหมายหมาย สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)
ช่วยในการตรวจสอบรังวัด ตรวจสอบสิทธิพื้นที่ถือครอง เพื่อออก ส.ป.ก.4-01
ขณะที่กรมป่าไม้ช่วยกันพื้นที่ออกจากป่าสงวนบางส่วน กรมที่ดิน
ดำเนินการออกโฉนดที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
นำเรื่องขอทบทวนมติ ค.ร.ม.ในเขตป่าไม้ถาวร
กรมธนารักษ์ช่วยขึ้นทะเบียนสถานที่ราชการ
กฟผ.ช่วยด้านการประสานงานเพื่อดำเนินการให้เป็นตามมติ
ค.ร.ม.และสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งจังหวัด อำเภอ และผู้นำชุมชน
ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ ประสานงาน สร้างความเข้าใจกับมวลชน
เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆแล้วจึงได้ข้อยุติ
และสามารถออกโฉนดให้กับราษฎรได้
จึงทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานจนประสบความสำเร็จ
- ส่งความสำเร็จประกวดชิงรางวัล
ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
จึงส่งผลงานนี้เข้าประกวดชิงรางวัลการบริการภาครัฐแห่งชาติ ประเภท
“บูรณาการบริการที่เป็นเลิศ” ซึ่งหากผลออกมาเป็นในทางที่ดี
ก็ถือว่าการแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ อ.แม่เมาะ
สามารถเป็นต้นแบบของพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศได้
- กลุ่มอพยพยังรอการแก้ไข
ขณะเดียวกัน
ทางกลุ่มชาวบ้านที่อพยพยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังคงรอการออกเอกสารสิทธิอยู่
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า
ตนเองได้ต่อสู้มานานถึง 7 ปีแล้วในการขอเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดิน ซึ่งทราบว่าพื้นที่ยังเป็นของกรมป่าไม้อยู่ ทำให้ราษฎรเสียสิทธิในการถือครองที่ดินอย่างเต็มที่
และไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากเอกสารสิทธิในการทำนิติกรรมต่างๆเช่น ค้ำประกันเงินกู้หรือการประกันตนเองในกรณีมีปัญหาทางด้านกฎหมาย
ประกอบกับ มีการเปลี่ยนรัฐบาล
เปลี่ยนนโยบายตลอดทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทางตนได้ติดตามทวงถามไปยังรัฐบาลที่ผ่านมา ผ่านจังหวัดในรูปแบบการยื่นหนังสือ
แต่ได้รับคำตอบเพียงว่าอยู่ระหว่างการเพิกถอนกฎกระทรวงอยู่
ซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าตอนนี้เรื่องอยู่ที่หน่วยงานใดกันแน่
ด้านนายชูชีพ
บุญนาค นายกเทศมนตรี ต.แม่เมาะ
กล่าวว่า
ขณะนี้ยังมีชาวบ้านในบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ เช่นที่บ้านใหม่รัตนโกสินทร์
เนื่องจากอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสภาผู้แทน
ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวจ้องได้ดำเนินการกันอย่างเต็มที่แล้ว ทราบว่าได้มีการออกเอกสารสิทธิรอไว้แล้ว
เหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 990 ประจำวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2557)